xs
xsm
sm
md
lg

กรมสรรพาวุธส่งมอบราชรถปืนใหญ่ให้กรมศิลป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสรรพาวุธทหารบก ส่งมอบโครงสร้างราชรถปืนใหญ่ให้กรมศิลป์ประกอบลวดลายบัวปากฐาน ขาสิงห์ แกะลายแคร่งอนรูปพญานาคสื่อภาพส่งเสด็จในหลวง ร.๙ สู่สรวงสวรรค์ ตั้งเป้าเสร็จต้นกันยายนนี้

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่กรมสรรพาวุธทหารบก พล.ท.อาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก พร้อมด้วย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมพิธีส่งมอบราชรถปืนใหญ่ที่ใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพในริ้วขบวนพระราชอิสริยยศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช แก่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เพื่ออัญเชิญไปดำเนินการด้านศิลปกรรม และประณีตศิลป์ประดับลวดลายองค์ราชรถ โดย พล.ท.อาวุธ กล่าวว่า กรมสรรพาวุธทหารบก ได้รับมอบหมายให้จัดสร้างในส่วนโครงสร้าง แบ่งเป็นการสร้างราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง และส่วนหน้า ซึ่งการจัดสร้างดำเนินการทั้งที่ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพวุธ ปทุมธานี และที่กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ จ.นครราชสีมา ซึ่งดำเนินการนับตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. จนแล้วเสร็จ

พล.ท.อาวุธ กล่าวว่า การจัดสร้างโครงสร้างราชรถครั้งนี้ ได้มีการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์จากข้อมูลจากหอจดหมายเหตุภาพถ่าย วีดิทัศน์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 เพื่อหาลักษณะการทำงานและส่วนประกอบ โดยโครงสร้างราชรถ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง และราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า มีคานบังคับสั้น เชือกชุดชัก 2 เส้น สำหรับการสร้างราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง จากการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ พบว่า ราชรถปืนใหญ่ คือ ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 51 (ป.51) ดังนั้น การจัดสร้างจึงใช้โครงสร้างของ ป. ภูเขา แบบ 51 เป็นโครงสร้างหลัก โดยได้นำ ป.ภูเขา แบบ 51 ที่กองทัพบกได้เก็บรักษาไว้มาดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างด้วยวิธีการตรวจสอบทางวิศวกรรม นำมาสร้างและบูรณะเพื่อให้ได้โครงสร้างที่แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักพระบรมโกศได้อย่างเหมาะสม จัดสร้างทั้งหมด 3 องค์ ได้แก่ 1. ราชรถปืนใหญ่ หมายเลข 21863 ที่ใช้ในพระราชพิธี 2. ราชรถองค์สำรอง 3. ราชรถสำหรับใช้ในการฝึกซ้อม สำหรับการส่งมอบครั้งนี้ ได้ส่งมอบราชรถ 2 องค์ คือ องค์จริง และสำรองให้กับสำนักช่างสิบหมู่ไปดำเนินการประดับลวดลายด้านศิลปกรรมต่อไป

ด้าน นายอนันต์ กล่าวว่า ภายหลังรับมอบราชรถแล้ว จากนั้นจะอัญเชิญราชรถทั้ง 2 องค์ ไป ยังโรงราชรถ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อดำเนินการด้านศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ ที่ศึกษามาจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 มาเป็นต้นแบบ เพื่อให้ราชรถปืนใหญ่มีความสวยงามสมพระเกียรติ กำหนดแล้วเสร็จช่วงต้นเดือน ก.ย. เพื่อเตรียมการสำหรับการซักซ้อมที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินงานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และประดับตกแต่งลวดลายด้านศิลปกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางสรรพาวุธจะเข้ามาประกอบช่วงล่างขององค์ราชรถทั้งหมด จากนั้นจะมีการจัดพิธีบวงสรวงองค์ราชรถก่อนที่จะมีอัญเชิญองค์ราชรถมาซักซ้อม และพร้อมสำหรับงานพระราชพิธีอย่างสง่างามสมพระเกียรติ

นายชนะโยธิน อุปลักษณ์ นายช่างศิลปกรรมกลุ่มงานช่างเขียนและช่างลายรดน้ำ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบด้านศิลปกรรมประดับลวดลายราชรถปืนใหญ่ กล่าวว่า ศิลปกรรมที่จะมาประดับโครงสร้างราชรถ ในส่วนที่เป็นโครงสร้างไม้ ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง แบ่งเป็นส่วนฐานใช้ลายบัวปากฐาน และ ขาสิงห์ และส่วนแคร่งอนด้านหน้า จะแกะเป็นรูปหัวพญานาค 6 องค์ และหางที่ด้านหลัง นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบอื่นที่จะมาประดับเพื่อมาช่วยส่งเสริมให้ราชรถปืนใหญ่มีความงดงาม ส่วนลวดลายประดับตัวถังราชรถนั้น จะใช้ลายกระจังเรียงไปตามโครงสร้างของรถที่มีลักษณะเป็นแนวนอน ในส่วนของล้อราชรถ จะมีการประดับลายกระจังไปจากดุมล้อตรงกลางไปตามซี่ล้อทั้ง 12 ซี่ ขณะที่วงล้อราชรถจะมีการเดินเส้นสีทองโดยรอบ

“ช่างจะแกะสลักลายกลีบบัว ขาสิงห์ ที่บริเวณส่วนฐานเมื่อดำเนินการแล้วจะการลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก โดยส่วนของขาสิงห์จะปิดทองทึบ แสดงถึงฐานานุศักดิ์ เช่นเดียวกับฐานสิงห์ที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ส่วนการใช้บัว มารองรับ ปรากฏในความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ซึ่งเปรียบในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นพระโพธิสัตว์ รวมถึงการแกะสลักแคร่เป็นหัวพญานาค เป็นความเชื่อตามคติพราหมณ์ และพุทธ ที่เปรียบพระมหากษัตริย์เสมือนสมมติเทพ ในการเคลื่อนราชรถอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ก็จะมีนาครองรับ และเคลื่อนเหมือนพระองค์ผ่านสู่ความเป็นมนุษย์กลับขึ้นสู่สรรค์ที่พระเมรุมาศ” นายชนะโยธิน กล่าว

พ.ต.สิทธิศักดิ์ ศรีนวลดี หัวหน้าครูฝึกพลฉุดชักราชรถ กรมสรรพาวุธทหารบก กล่าวว่า สำหรับการฝึกซ้อมกำลังฉุดชักราชรถในริ้วขบวนที่ 2 ทางกรมสรรพาวุธทหารบก ได้เตรียมกำลังพลเบื้องต้นไว้ทั้งหมดจำนวน 506 นาย โดยพระมหาพิชัยราชรถ จะใช้พลฉุดชักราชรถ และกำลังสำรอง จำนวน 301 นาย ราชรถน้อย จำนวน 79 นาย ส่วนกำลังพลฉุดชักราชรถปืนใหญ่ นั้น จะเป็นกำลังพลจากกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จำนวน 40 นาย สำหรับท่าทางการฉุดชักราชรถปืนใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างประดิษฐ์ท่าฉุดชัก ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกองพระราชพิธี เพื่อกำหนดท่าฉุดชักที่เหมาะสม และเป็นไปตามโบราณราชประเพณี โดยขณะนี้กรมสรรพาวุธ ได้เปิดรับสมัครกำลังพลฉุดชักราชรถในทุกหน่วย ซึ่งทราบว่า มีกำลังพลสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่ระดับนายทหารชั้นสัญญาบัตร ยศพันเอก จนกระทั่งถึงพนักงานของกรม และดำเนินการให้รายงานตัวกำลังพลฉุดชักราชรถในวันที่ 8 พ.ค. และคาดว่า จะเริ่มการฝึกซ้อมได้ 11 พ.ค. เป็นต้นไป


















กำลังโหลดความคิดเห็น