สบศ. อบรมเข้มครูนาฏศิลป์ 200 คน แก้จุดบกพร่องถ่ายทอดท่ารำกลายพันธุ์ - ผิดเพี้ยนสู่เด็ก และสถานศึกษา สร้างเครือข่ายสืบสานวัฒนธรรม
วันนี้ (1 พ.ค.) ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมอบรมครูเครือข่ายนาฏศิลป์และดนตรี ผศ.พิมณภัทร์ ถมังรักษ์สัตว์ คณบดีคณะศิลปศึกษา สบศ. กล่าวว่า คณะศิลปศึกษามีภารกิจในการจัดการศึกษาด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ทั้งไทยและสากล โดยผลิตบัณฑิตเพื่อทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ พัฒนา สืบทอดและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ นักศึกษาที่จบออกไปจะประกอบวิชาชีพครูในสถานศึกษาทำหน้าที่สอนเยาวชนให้เห็นคุณค่าศิลปวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี เมื่อเรียนจบไปหลายปีความรู้ความเข้าใจด้านนาฏศิลป์ที่ถูกต้องอาจลืมเลือนไป ทั้งความรู้เดิมที่อนุรักษ์และสืบทอดมาจากแต่โบราณและชุดการแสดงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ดังนั้น คณะศิลปศึกษา ได้จัดโครงการบริการวิชาการมีกิจกรรมอบรมครูเครือข่ายนาฏศิลป์และดนตรี ระหว่างวันที่ 1 - 5 พ.ค. 2560 ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ และโรงละครวังหน้า จำนวน 200 คน เหมือนกองทัพวัฒนธรรมได้ทบทวนความรู้เก่า เติมเต็มความรู้ครู พร้อมทั้งชี้แนะสิ่งที่เลือนลางไป เพราะทำให้ท่ารำมาตรฐานกลายไปจากท่าต้นแบบ
“นาฏศิลป์จะงามได้ต้องมีครูจับ หากไปเป็นครูแล้วไม่มีคนบอกว่าครูเริ่มรำเสียแล้วนะ วงเสีย ระดับมือล้น จากจีบไขว้เป็นจีบเรียง ถ้าครูรำเสีย สิ่งที่ถ่ายทอดสู่เด็กจะกลายและไม่งาม รวมถึงหากส่งเด็กไปประกวดการแสดงนาฏศิลป์ก็จะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแบบแผน ดังนั้น ครูนาฏศิลป์กว่า 200 คน ที่เข้ารับอบรมครั้งนี้ จะได้รับการชี้แนะจุดบกพร่องจากศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ ไม่ใช่อบรมกลับไปก็ลืม ทุกคนจะได้รับการเคี่ยวท่ารำต้นแบบ พัฒนาทักษะได้เร็ว และรับซีดีเพลงและซีดีท่ารำต้นแบบเพื่อกลับไปใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน และฝึกการแสดงแต่ละชุด เพื่อช่วยปลูกฝังเยาวชนของชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ขณะนี้คนรุ่นใหม่สนใจนาฏศิลป์เพิ่มขึ้น แต่เป็นนาฏศิลป์ผสมเต้น ซึ่งไม่ผิด หากสามารถสอดแทรกนาฏศิลป์ที่ถูกต้องเข้าไปด้วยจะช่วยสืบสานวัฒนธรรม หวังว่า ครูได้กลับไปสร้างรากฐานนาฏศิลป์และดนตรีที่เข้มแข็ง ฝึกฝนเด็กมีการแสดงที่สวยงามโดดเด่นสร้างชื่อเสียงระดับจังหวัดและระดับประเทศ รวมถึงเกิดเครือข่ายนาฏศิลป์สืบทอดศิลปวัฒนธรรมขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น” ผศ.พิมณภัทร์ กล่าว