องค์กรเด็กและสตรีไม่ยอมรับผลสอบผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ไม่มีเอี่ยวคดีค้าประเวณีเด็ก เหตุการสอบไม่เป็นกลาง จี้ ต้องสาวถึงต้นตอ ใช้เป็นบทเรียนไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างข้าราชการระดับสูง วอนสร้างความกระจ่างกับสังคม แฉวัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อมีมายาวนาน เชื่อยังมีข้าราชการระดับสูงอีกหลายกระทรวง
วันนี้ (1 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในเวทีเสวนา “เด็กกับวัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อ สังคมไทยรับได้จริงหรือ?” โดยมีกลุ่มองค์กรด้านเด็กและสตรี อาทิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สหทัยมูลนิธิ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร และนักวิชาการ นักสังคมสงเคราะห์ กว่า 50 คน เข้าร่วม
นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากกรณีขบวนการล่อลวงและบังคับให้เด็กผู้หญิงค้าประเวณี ที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีข้าราชการตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด พัวพัน ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ ระบุว่า ผู้ว่าฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่พบการกระทำผิดนั้น ทางกลุ่มองค์กรด้านเด็กและสตรี ขอแถลงคัดค้าน และไม่ยอมรับกับการสอบสวนตรวจสอบในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าไม่มีความเป็นกลาง และเป็นสิ่งที่สังคมต้องไม่ยอมรับ เนื่องจากการค้าประเวณีถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบ แสวงหาประโยชน์ ล่วงละเมิด และกระทำความรุนแรง ผิดทั้งกฎหมายและหลักจริยธรรม ต้องหาคนผิดมาลงโทษ และต้องมีกระบวนการคุ้มครองและเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งเป็นผู้เสียหายให้ปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่เศร้าใจมาก ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กแห่งชาติ
“ขอให้เร่งรัดคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้จัดหา และผู้ซื้อประเวณี โดยต้องไม่ละเว้น หรือทอดเวลาในการดำเนินคดีอาญาต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบไม่ควรทำเฉพาะภายในหน่วยงานด้วยกันเอง แต่ควรตั้งบุคคลภายนอก หรือตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อความเป็นกลาง โปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เสียหาย ขณะเดียวกัน ระหว่างที่มีการสอบสวน กระทรวงมหาดไทยควรย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาออกจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่เดิม เพื่อลดโอกาสใช้อำนาจ หรืออิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่ เข้าไปแทรกแซงหรือขัดขวางกระบวนการทางอาญา ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าพยานผู้เสียหายจะไม่ถูกกดดัน หรือคุกคามด้วยอำนาจและอิทธิพล” นางทิชา กล่าว
น.ส.ชลีรัตน์ แสงสุวรรณ ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์สตรี กล่าวว่า สถานการณ์การค้าประเวณีในไทย มีสะสมมายาวนาน วัฒนธรรมระบบอุปถัมป์แบบเลี้ยงดูปูเสื่อ ด้วยการนำเด็กผู้หญิงไปเป็นวัตถุทางเพศ ยังมีให้เห็นตลอดเวลา ระบบนี้จะใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือนอกจากจะต้องจ่ายค่าหัวรายเดือนให้นายแล้ว ต้องหาเด็กมาบริการนายด้วย หรือ ตามสถานบริการต่างๆ ต้องจ่ายค่าหัว และต้องมีบริการเด็กให้เจ้าหน้าที่ด้วย
“ที่ผ่านมา การตรวจสอบมีความอ่อนแอ แม้เราจะมีข้อมูลแต่ทำอะไรไม่ได้ และจากข้อมูลมักพบว่า ข้าราชการในพื้นที่จะจ่ายส่วยในรูปแบบหาเด็กเพื่อมารับรองนายใหญ่ เลี้ยงต้อนรับเลี้ยงส่งนาย เช่น ข้าราชการระดับสูงเกือบทุกกระทรวง ผู้อำนวยการส่วนต่างๆ นักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติ และเด็กผู้หญิงหลายรายต้องตกเป็นเครื่องมือทางเพศ ทั้งนี้ จะเน้นเด็กที่หน้าตาดี ขาว สวย อายุระหว่าง 17 - 18 ปี ส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ อีสาน และ ชนเผ่า ทั้งนี้ อยากให้กรณีที่แม่ฮ่องสอนนำมาเป็นบทเรียน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง อยากฝากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลระเบียบวินัยข้าราชการอย่างเข้มงวดจริงจัง มีภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ และจากนี้จะมีบทพิสูจน์การทำงาน เพื่อนำไปสู่การล้างระบบการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นสะสมมายาวนาน” นางสาวชลีรัตน์ กล่าว
ดร.อภัสรินทร์ ขณะรัตน์ นักวิชาการอิสระด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในกลุ่มเด็กขายบริการ กว่า 4 - 5 ปี พบว่า การค้าประเวณีจะพบในจังหวัดใหญ่ๆ ตามสถานบันเทิง มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป มีทั้งคนในวงการข้าราชการ เอกชน คนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเครือข่ายที่ทำงานกันเป็นทีม แฝงไปกับอาชีพอื่นๆ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีทั้งแบบประจำและครั้งคราว ส่วนเพศพบว่า มีทั้งชายและหญิง อายุน้อยสุด คือ 12 ปี และนับวันอายุยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ อีกทั้งมีการนำสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง ลักษณะที่พบ คือ การล่อลวง ชักชวน ตีสนิท ให้มาทำงานโดยใช้วัตถุนิยมหลอกล่อ เช่น โทรศัพท์ เสื้อผ้าราคาแพง สิ่งที่เด็กอยากมีอยากได้ กรณีที่เป็นแฟนกัน ตกเย็นผู้หญิงจะไปขายบริการ ให้ผู้ชายไปส่งและรออยู่หน้าห้อง
“สังคมจะปล่อยให้เด็กต้องตกเป็นเครื่องมือการค้ามนุษย์อีกนานแค่ไหน สังคมต้องโฟกัสที่การซื้อบริการ ไม่ใช่ไปมองที่คนขายเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งวัฒนธรรมการเลี้ยงดูปูเสื่อ ยังเป็นปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้พรม และคนไทยยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้จริงหรือไม่ มันกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับของคนทั่วไปได้อย่างไร ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ทุกคนไม่เพิกเฉย ไม่นิ่งเฉย หากยังนิ่งเฉยก็เท่ากับเป็นการสนับสนุน และสิ่งที่คนมีอำนาจจะต้องทำต่อไป คือ สอบสวนอย่างเป็นกลาง โปร่งใส ทำให้สังคมเห็นว่าเชื่อถือได้” ดร.อภัสรินทร์ กล่าว