xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อเท็จจริง “เครื่องเทอร์โมตรอน” กับการรักษามะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ไม่นานมานี้มีการส่งต่อข่าวเก่าในสื่อสังคมออนไลน์ถึง “เครื่องเทอร์โมตรอน (Thermotron)” ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีการบิดเบือนข้อมูล ว่า สามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด ทุกจุด ทุกระยะ จนสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนจำนวนมาก และกลายเป็นการสร้างความหวังให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งและญาติ ว่า จะมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ส่งผลให้ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ต้องออกโรงชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะทางทฤษฎีไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะรักษามะเร็งได้ทุกชนิด รวมถึงเครื่องดังกล่าว รพ.จุฬาภรณ์ ก็ไม่ได้เป็นผู้นำเข้าอย่างที่มีการให้ข้อมูล แต่เป็นการเช่าเครื่องมาอีกใช้ภายในโรงพยาบาลเท่านั้น

แล้วความสามารถของเครื่องเทอร์โมตรอนแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้รักษามะเร็งจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ทีมข่าวคุณภาพชีวิต MGROnline มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ และ พญ.สุนันทา โรจน์วัฒน์กาญจน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสี รพ.จุฬาภรณ์ เป็นพิเศษเพื่อเคีลยร์ข้อสงสัยต่างๆ ของเรื่องดังกล่าว และทั้งหมดต่อไปนี้คือ ข้อเท็จจริงของเครื่องเทอร์โมตรอนที่ถูกต้อง

เครื่องเทอร์โมตรอนคืออะไร?

พญ.สุนันทา ให้ข้อมูลว่า เครื่องเทอร์โมตรอนคือชื่อของเครื่อง แต่แท้จริงแล้วเป็นการรักษาด้วยความร้อนหรือที่เรียกว่า “ไฮเปอร์เทอร์เมีย (Hyperthermia)” ซึ่งหลักการของวิธีการรักษาดังกล่าวคือ การทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิเฉพาะที่สูงกว่าอุณหภูมิร่างกายปกติ โดยเครื่องเทอร์โมตรอน อาร์เอฟ 8 เป็นเครื่องมือแพทย์ที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อนโดยใช้คลื่นวิทยุ 8 เมกะเฮิร์ทซ์ หลักการทำงานคือ การใช้คลื่นความถี่ทำให้เกิดความร้อนแบบทั่วๆ ในบริเวณที่มีรอยโรคมะเร็ง

ความร้อนรักษามะเร็งได้จริงหรือ?

พญ.สุนันทา กล่าวว่า เซลล์มะเร็งจะมีความสามารถในการสร้างเส้นเลือดขึ้นมา เพื่อลำเลียงอาหารมาสู่ก้อนมะเร็ง แต่เส้นเลือดที่สร้างขึ้นมานั้นมีความยืดหยุ่นไม่ดีเท่ากับเส้นเลือดปกติของคนเรา ซึ่งโดยหลักการแล้วเมื่อร่างกายเราเจอกับความร้อน จะมีการปรับอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นตามด้วยการขยายเส้นเลือด เพื่อระบายความร้อนออก ซึ่งหากเป็นเซลล์ปกติเส้นเลือดจะขยายตัวได้ดี เพราะมีความยืดหยุ่น ต่างจากเส้นเลือดของมะเร็งที่ยืดหยุ่นไม่ดี จึงระบายความร้อนไม่ได้ ทำให้เกิดความร้อนระอุขึ้นภายในเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้แต่ไม่มากพอ

“จากการศึกษาพบว่า เมื่อมีการฉายรังสีรักษามะเร็งจะมีบางส่วนที่เซลล์มะเร็งไม่ตาย แต่เมื่อให้ความร้อนตามหลังการฉายรังสีพบว่า ทำให้เซลล์มะเร็งตายมากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อใช้รักษาภายหลังการให้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม พบว่า ช่วยให้เซลล์มะเร็งดูดซึมตัวยาได้ดีขึ้น จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาของวิธีหลัก” พญ.สุนันทา กล่าว

พญ.สุนันทา กล่าวว่า สำหรับหลักการทำงานของเครื่องเทอร์โมตรอน คือ การใช้คลื่นความถี่ทำให้เกิดความร้อนแบบทั่วๆ ในบริเวณที่มีรอยโรคมะเร็ง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมคือประมาณ 42 - 43 องศาเซลเซียส สามารถให้ความร้อนเพื่อร่วมรักษาก้อนมะเร็งที่อยู่ไม่ลึกจากผิวหนัง หรือก้อนมะเร็งที่อยู่ลึกลงไปในร่างกายได้ประมาณ 15 เซนติเมตร

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า เครื่องนี้เป็นการรักษาด้วยความร้อนแบบทั่วๆ ในบริเวณที่วางแผ่นสร้างความร้อน เช่น ช่องอก ช่องท้อง อุ้งเชิงกราน จึงไม่สามารถใช้รักษามะเร็งเฉพาะจุดที่เฉพาะเจาะจงกับก้อนเนื้อมะเร็งได้ตามที่มีการแชร์กัน

แค่วิธีรักษาร่วม ไม่ใช่วิธีหลักรักษามะเร็ง!

จากหลักการดังกล่าว ศ.นพ.นิธิ จึงย้ำว่า การใช้ความร้อนในการรักษามะเร็งจึงเป็นเพียงวิธีการรักษาร่วมกับวิธีหลักคือ การฉายรังสี หรือยาเคมีบำบัดเท่านั้น การรักษาด้วยความร้อนเพียงอย่างเดียว จึงยังไม่เป็นมาตรฐานหลักในการรักษา จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อว่าเครื่องนี้จะสามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด ทุกจุด ทุกระยะ ตามที่มีการให้ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย และแพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ป่วยมะเร็งควรใช้วิธีหลักอะไรในการรักษา แล้วควรเสริมด้วยไฮเปอร์เทอร์เมียหรือไม่

เกณฑ์การใช้เครื่องเทอร์โมตรอนเป็นอย่างไร?

พญ.สุนันทา กล่าวว่า หลักการหลักๆ มี 2 ข้อคือ 1. ต้องมีการรักษาหลักก่อน คือ การฉายแสง หรือการให้ยาเคมีบำบัดก่อนเท่านั้น จึงจะใช้เครื่องนี้ได้ และ 2.ต้องไม่มีข้อห้ามในการใช้เครื่องนี้ คือ ไม่ใช่การรักษาก้อนมะเร็งที่อยู่ใกล้ตาหรือสมอง ผู้ที่เคยผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะความร้อนจะไปรบกวนการทำงนของเครื่อง และผู้ที่มีโลหะอยู่ในร่างกาย เพราะโลหะจะกลายเป็นจุดรวมความร้อoในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ต้องมีสติสัมปชัญญะที่ดี ไม่รู้สึกชา สามารถบอกได้เกิดความเจ็บปวดไม่สบายร่างกาย เพื่อลดอุณหภูมิลง

เครื่องเทอร์โมตรอนใช้ร่วมในการรักษามะเร็งอะไร?

พญ.สุนันทา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับวิธีหลักในการรักษา หากเป็นการฉายแสงคู่กับความร้อน จะใช้ในการรักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูก การรักษาแบบครบถ้วนตามมาตรฐานคือ การฉายแสงคู่กับการให้เคมีบำบัด ซึ่งหากสามารถรักษาได้ครบตามมาตรฐานก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยความร้อน แต่หากมีปัญหา เช่น ไตทำงานไม่ดี ไม่สามารถรับคีโมได้ เหลือเพียงฉายแสงอย่างเดียว ก็อาจพิจารณาใช้ความร้อนควบคู่ในการรักษา เพราะในอดีตเคยมีการศึกษาพบว่า เมื่อใช้ความร้อนรักษาคู่กับฉายรังสีในมะเร็งปากมดลูก พบว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฉายแสงได้ ส่วนการใช้คีโมคู่กับความร้อน เช่น มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน มะเร็งตับอ่อน

พญ.สุนันทา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังใช้คู่กับการฉายแสงในกรณีที่พบการกลับมาเป็นซ้ำขอมะเร็งเต้านม เพราะมีการศึกษาพบว่า มีประสิทธิภาพดีกว่าการรักษาด้วยรังสีวิธีเดียว โดยพบว่าสามารถหยุดตัวโรคได้ถึง 30%

“จากการศึกษาการใช้เครื่องเทอร์โมตรอนในการรักษา ยังเป็นการป่วยมะเร็งในระยะ 2 - 3 เพราะการป่วยระยะต้นๆ หรือเป็นมะเร็งก้อนเล็กๆ ยังสามารถรักษาด้วยวิธีมาตรฐานได้ แต่เมื่อมะเร็งก้อนใหญ่ขึ้น การตอบสนองต่อวิธีมาตรฐานลดลง จึงมีการเอาความร้อนมาเสริมการรักษา” พญ.สุนันทา กล่าว

ผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องเทอร์โมตรอน

พญ.สุนันทา กล่าวว่า ผลข้างเคียงในการใช้เครื่องเทอร์โมตรอน คือ มีโอกาสปวดบริเวณที่ให้ความร้อน ผิวหนังตรงบริเวณที่รักษามีลักษณะคล้ายแผลไฟไหม้นำร้อนลวก หรือมีตุ่มน้ำ

รักษาด้วยความร้อนเบิกจ่ายไม่ได้ทุกสิทธิ

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า เนื่องจากการรักษามะเร็งด้วยความร้อนไม่ใช่วิธีการหลักในการรักษามะเร็ง ดังนั้น การใช้เครื่องเทอร์โมตรอนในการรักษามะเร็งร่วมกับวิธีการหลัก จึงไม่สามารรถเบิกได้ในทุกสิทธิสุขภาพภาครัฐ ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณครั้งละ 14,000 บาท

สถิติการใช้เครื่องเทอร์โมตรอนเป็นอย่างไร?

พญ.สุนันทา กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดเครื่องมาประมาณ 3 - 4 ปี มีการใช้ทั้งสิ้นประมาณ 200 ครั้ง ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งที่ต้องรับเป็นครั้งไม่นับเป็นรายคน เพราะผู้ป่วย 1 คน มีการใช้มากกว่า 1 ครั้ง โดยการใช้เครื่องเทอร์โมตรอนในการรักษาร่วมจะอยู่ที่ประมาณ 1 - 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยหากเป็นการใช้ร่วมกับเคมีบำบัด จะต้องรับยาเคมีบำบัดก่อนทุกครั้งจึงมารับบริการเครื่องเทอร์โมตรอนต่อได้ ซึ่งการรับยาเคมีบำบัดจะอยู่ที่วงรอบของยา เช่น ต้องมารับยาทุกสัปดาห์ก็จะใช้เครื่องนี้สัปดาห์ละครั้ง แต่หากแพทย์พิจารณาว่ายังไม่สามารถรับยาคีโมได้ ก็ยังไม่สามารถใช้เครื่องดังกล่าวได้ ส่วนการใช้คู่กับการฉายแสง ซึ่งการฉายแสงจะทำประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ดังนั้น การใช้เครื่องเทอร์โมตรอน จึงสามารถเลือกได้ว่าจะใช้หลังทำการฉายแสงในวันใด ซึ่งสามารถทำได้ 2 วันจาก 5 วันใน 1 สัปดาห์ แต่ว่าแต่ละครั้งจะต้องห่างกันอย่างน้อย 72 ชั่วโมง โดยการรักษาด้วยความร้อนจะต้องทำหลังจากฉายแสงหรือรับยาคีโมประมาณ 30 - 120 นาที

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.จุฬาภรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเช่าเครื่องดังกล่าวต่อหรือไม่ ซึ่งจำนวนการใช้เพียง 200 กว่าครั้ง ในรอบ 4 ปี ถือว่าน้อยมาก ก็จะพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้มากน้อยเพียงใด หรืออาจจะต้องมีโครงการศึกษาวิจัยการใช้เครื่องนี้ให้ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วเป็นประโยชน์หรือไม่

การให้ข้อมูลว่ารักษามะเร็งได้ทุกชนิด ทุกจุด ทุกระยะ ถือเป็นการสร้างความหวังให้แก่ผู้ป่วยอย่างมาก แต่ข้อเท็จจริง คือ ยังไม่มีการรักษาใดทำได้แบบนั้น การรับข้อมูลจึงต้องมีสติและพิจารณาให้ถี่ถ้วน แต่ที่สำคัญ คือ อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะ “กำลังใจที่ดี” คือสิ่งสำคัญในการช่วยสู้กับการรักษามะเร็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น