xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์เรียนรู้ สสส.รับรางวัล LEED อาคารประหยัดพลังงานระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศูนย์เรียนรู้” สสส. องค์กรรัฐแห่งแรกของไทย รับรางวัล LEED อาคารประหยัดพลังงานระดับโลก

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สสส. ครั้งที่ 4/2560 ว่า ที่ประชุมรับทราบตามที่หน่วยงาน The US Green Building Council หรือ USGBC ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองให้อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เป็นอาคารประหยัดพลังงาน หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ในระดับ Platinum ซึ่งถือเป็นรางวัลระดับสูงสุด โดย LEED เป็นมาตรฐานรางวัลที่ได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดสำหรับอาคารสีเขียวในระดับโลก โดยอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 แนวคิด สถาปัตยกรรมสีเขียว ในการก่อสร้างตั้งแต่ขั้นตอนในการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ และการก่อสร้างคำนึงถึงความคุ้มค่า และประโยชน์ใช้สอย มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ทั้งแสง ลม ดิน น้ำ ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยประหยัดพลังงาน อาทิ การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในห้องน้ำ รดน้ำต้นไม้ ระบบโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานมาใช้ภายในอาคาร ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่างให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ใช้วัสดุเหลือใช้มาเป็นส่วนประกอบภายในอาคาร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ 80% เป็นพื้นทีสาธารณะ มีส่วนอาคารสำนักงานเพียง 20% ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีองค์กรที่รับรางวัลนี้เพียง 8 แห่ง ซึ่ง 7 แห่ง ก่อนหน้านี้ล้วนเป็นอาคารของหน่วยงานเอกชน สสส.ถือเป็นองค์กรรัฐแห่งแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบยุทธศาสตร์แผนควบคุมยาสูบ เพื่อร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยทิศทางเป้าหมายของการดำเนินงานในปี 2560 จะเน้นใน 5 แนวทางหลัก คือ 1. ผลักดันการออกมาตรการ กฎหมาย และนโยบายที่จำเป็นต่อการลดอัตราการบริโภคยาสูบ เช่น การผลักดันยารักษาการติดนิโคตินเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติให้มากขึ้น 2. สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในนโยบาย/มาตรการที่มีอยู่อย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ 3. พัฒนางานวิจัย/วิชาการให้เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนของเครือข่าย รณรงค์ 4. รณรงค์เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน และการป้องกันการได้รับควันบุหรี่มือสองและควันบุหรี่มือสาม และ 5. พัฒนาระบบบำบัดการติดบุหรี่ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มบทบาทของประชาชน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการช่วยเลิกบุหรี่

“ที่ประชุมยังได้เห็นชอบโครงการพัฒนานวัตกรรมและขยายการเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ หรือ Quit Line สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ซึ่งจะเป็นการเสริมระบบการช่วยเหลือผู้เสพให้ได้รับการบำบัดด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการให้บริการเลิกบุหรี่ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อช่วยให้ผู้เสพได้รับการบำบัดสู่การลงมือเลิกบุหรี่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน โดยปีที่ผ่านมามีผู้รับบริการของศูนย์ฯ และเลิกบุหรี่ได้ ถึงร้อยละ 43.92 หรือคิดเป็น 7,494 ราย และในปีนี้ตั้งเป้าผู้เข้าถึงการบริการไม่น้อยกว่า 19,000 ราย” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น