สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯส่วนพระองค์ทอดพระเนตรความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างใกล้ชิด ด้าน อธิบดีกรมศิลป์ ระบุ งานโครงสร้างพระเมรุมาศ - พระที่นั่งทรงธรรม เสร็จเมษายนนี้ เริ่มงานสถาปัตยกรรม - ประกอบตกแต่ง เผยเปลี่ยนวัสดุวิทยาศาสตร์แทนไม้ทนแดดทนฝน ชี้ พระเมรุมาศผสมผสานโบราณราชประเพณี กับเทคโนโลยีทันสมัยลงตัว ขณะที่ฐานรองพระโกศจันทน์เร่งผูกลวดลายเครือเถาครุฑ ทั้ง 4 ด้าน เสร็จ มิ.ย. นี้
วันนี้ (28 เม.ย.) ที่ท้องสนามหลวง เมื่อเวลา 07.05 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรความคืบหน้าการดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมี ท่านผู้หญิง บุตรี วีรไวทยะ รองราชเลขาธิการ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี นายวีระโรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เจ้าหน้าที่วิศวกรโครงสร้างพระเมรุมาศ และงานศิลปกรรมประณีตศิลป์เฝ้ารอรับเสด็จฯ
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารวิธานสถาปกศาลาทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านการขยายแบบด้านสถาปัตยกรรม โดยมี นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เฝ้ากราบบังคมทูลถวายรายงานความคืบหน้าของการก่อสร้างพระเมรุมาศ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวง เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานยังอาคารพระเมรุมาศ และอาคารประกอบต่างๆ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงปั้นหล่อประติมากรรม ทอดพระเนตรการหล่อไฟเบอร์กลาสรูปปั้นเทวดา และสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศ และโรงจิตรกรรมเขียนฉากบังเพลิงและลงสีงานประติมากรรม และโรงจัดสร้างพระโกศจันทน์เพื่อทอดพระเนตรการประกอบลายฐานรองพระโกศจันทน์ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ความคืบหน้าในการก่อสร้างพระเมรุมาศ ซ่าง หอเปลื้อง งานโครงสร้างแล้วเสร็จกว่า 90% เหลือเพียงการติดตั้งชานชาลาด้านทิศเหนือ หากติดตั้งส่วนนี้เสร็จ ถือว่างานโครงสร้างพระเมรุมาศเสร็จสมบูรณ์ ต่อจากนั้น จะเริ่มงานสถาปัตยกรรมและประกอบตกแต่ง ซึ่งส่วนประกอบงานสถาปัตยกรรมที่ส่งแบบให้โรงงานผลิต อาทิ ราวลูกกรงชาลาแต่ละชั้น ผลิตใกล้เสร็จแล้ว ถ้าหากผลิตเสร็จสามารถนำมาประกอบติดตั้งแต่ละชั้นของพระเมรุมาศได้ทันที ส่วนอาคารพระที่นั่งทรงธรรมงานโครงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทดลองติดตั้งองค์ประกอบสถาปัตยกรรม อาทิ เชิงกลอนหลังคาพระที่นั่งทรงธรรม และกระจังชายคาพระที่นั่งทรงธรรม ใช้วัสดุใหม่ แผ่นพลาสวูดแทนการใช้ไม้ ลงสีเป็นสีทอง ตามแผนโครงสร้างพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรมจะแล้วเสร็จสิ้นเดือนเมษายนนี้ ส่วนศาลาลูกขุน 1 งานโครงสร้างเกือบหน้า 89% คาดว่า แล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมนี้
นายอนันต์ กล่าวว่า งานภูมิสถาปัตยกรรมมีกำหนดเข้าดำเนินการวันที่ 1 พ.ค. นี้ โดยเริ่มงานเกลี่ยดินและเช็กระดับดิน ก่อนจะปรับพื้นที่ บดอัดแน่น รวมถึงงานระบบระบายน้ำ ส่วนความคืบหน้าด้านงานประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ เทวดานั่งแบบยอดเกตุชัย 8 องค์ หล่อไฟเบอร์และประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จิตอาสากลุ่มจิตรกรรมกำลังลงสี ขณะที่เทวดานั่งยอดน้ำเต้าอีก 24 องค์ จะทยอยหล่อไฟเบอร์กลาสและประกอบ ก่อนส่งลงสีตามลำดับ ส่วน พระพรหม พระนารายณ์ ราชสีห์ รอลงสีเช่นกัน เช่นเดียวกับการเขียนจิตรกรรมฉากบังเพลิงมีความคืบหน้าตามลำดับ ขณะนี้เริ่มปิดทองเครื่องทรงเทวดาฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันตกแล้ว ส่วนฐานรองพระโกศจันทน์ หรือพระหีบจันทน์ ได้เคลื่อนย้ายโครงสร้างเหล็กมาที่โรงจัดสร้างพระโกศจันทน์ ช่างสิบหมู่ดำเนินงานขึงตาข่ายรอบฐานรองพระโกศเรียบร้อยแล้ว ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการประกอบลวดลายฉลุไม้จันทน์ หากการดำเนินงานฐานรองพระโกศจันทน์เสร็จแล้ว จะเริ่มงานส่วนพระโกศทองใหญ่
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า งานสถาปัตยกรรมและประกอบตกแต่งพระเมรุมาศครั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนใช้วัสดุวิทยาศาสตร์มากขึ้นแทนการใช้ไม้ ประโยชน์ของแผ่นพลาสวูดสามารถแกะลวดลายให้สวยงาม โดดเด่นได้ ไม่แตกต่างจากไม้อัด ข้อดีวัสดุมีความคงทน ทนแดด ทนฝน เพราะช่วงดำเนินการสถาปัตยกรรมประดับลวดลายพระเมรุมาศจะตรงกับฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ดังนั้น การเปลี่ยนใช้วัสดุใหม่จะไม่ต้องกังวลว่างานติดตั้งจะเกิดพื้นผิวบวม
“ในการจัดสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ จะเป็นการผสมผสานแบบแผนทางโบราณราชประเพณีกับเทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อจัดสร้างเสร็จแล้วจะเห็นรูปแบบที่เป็นโบราณราชประเพณีทุกอย่าง” นายอนันต์ กล่าว
ขณะที่ นายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ความคืบหน้าการจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์ หรือพระหีบจันทน์ หลังจากขึ้นโครงโลหะที่สำนักช่างสิบหมู่และผูกลวดตาข่ายจนแล้วเสร็จ ขณะนี้เริ่มประกอบลวดลายโดยการผูกลวดลายเครือเถาครุฑ ทั้ง 4 ด้านของฐาน เพื่อคำนวณลายมีเพียงพอหรือไม่ ส่วนวิธีการผูกจะเริ่มจากส่วนที่อยู่ในสุด ค่อยๆ ซ้อนทับกัน ใช้ลายฉลุไม้ 25,000 ชิ้น 20 ลวดลาย โดยช่างสิบหมู่ที่มีประสบการณ์จำนวน 8 คน ในระหว่างผูกลายช่างอาจมีปรับรูปแบบเล็กน้อย เสริมไม้เพิ่มเติม หรือนำลายไปฉลุตัดชิ้นส่วนให้ลงตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเสร็จสมบูรณ์เดือนมิถุนายนนี้
นายพิจิตร กล่าวว่า ล่าสุด การจัดสร้างพระโกศจันทน์อยู่ระหว่างการขึ้นหุ่นโครงสร้างโลหะ คาดว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะแล้วเสร็จ ก่อนจะบุลวดตาข่ายและประกอบลวดลายในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ช่างสิบหมู่จะสืบสานงานลายซ้อนไม้ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบทอดสู่งานจัดสร้างพระโกศจันทน์ในพระราชพิธีครั้งนี้ให้สมพระเกียรติที่สุด