วธ. ยกย่องพระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม ในหลวง ร.๙ ทรงเป็นแบบอย่างให้คนไทยร่วมอนุรักษ์ ด้าน มธ. เล็งคัดวรรคทองพระราชดำรัสทำหนังสือแปล 10 ภาษา แจกสถาบันการศึกษาหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่โรงละครแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คุณค่าภาษาไทย” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ว่า ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติกว่า 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะในด้านภาษา พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทย และมีพระราชประสงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ส่งผลทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทย
ทั้งนี้ ใน วธ. เร่งรณรงค์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมด้านภาษาไทยและภาษาถิ่น อีกทั้งสนับสนุนให้เด็ก และเยาวชนเรียนรู้วรรณกรรมไทย และประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า โดยจะมีการกำหนดแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะยาว มีการส่งเสริมการเขียนและอ่านอย่างถูกต้อง สร้างห้องสมุดที่ดี เข้าถึงสื่อต่างๆ พร้อมทั้งร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ชุมชนคนไทยในต่างแดนจัดโครงการสอนภาษาไทยให้เด็ก เยาวชนไทยในต่างประเทศ เพื่อให้เด็กสื่อสารภาษาไทยได้คล่องแคล้ว และสืบสานวัฒนธรรมไทยอีกด้วย
รศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยของสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม ว่า พระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก เป็นชาดก ซึ่ง ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดมาก ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะชักชวนให้ประชาชนชาวไทยมีความเพียรให้ถึงที่สุด ทรงประดิษฐ์ เรื่องราว โดยใช้ศาสตร์ และศิลป์ของพระราชา ทรงใช้วิชาแผนที่ ภูมิศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา และโหราศาสตร์ ช่วยสร้างจินตนาการให้ผู้อ่าน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษา ทรงแปลเนื้อเรื่องจากภาษาบาลี เป็นภาษาอังกฤษ ทรงเลือกถ้อยคำสำนวนที่ทำให้เกิดอรรถรส ทรงใช้คำเปรียบทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนมาก ทรงสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องการเกษตรมาใส่ไว้ในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ ทำให้ผู้อ่าน ทราบวิธี ปลูกมะม่วงให้ได้ผลดี ถึง 9 วิธี ส่วนภาพประกอบในพระราชนิพนธ์ทรงคุณค่ามาก ทุกภาพงามวิจิตรด้วย ดังนั้น ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ สมควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการทำตนให้เป็นผู้มีความเพียรที่บริสุทธิ์ มีปัญญาที่เฉียบแหลม และมีกำลังกาย ที่สมบูรณ์
ด้าน รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ถ่ายทอดผ่านพระราชดำรัส โดยคณะศิลปศาสตร์ จึงได้มีการรวบรวมวรรคทองที่ทรงคุณค่า จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ รวมพระปฐมบรมราชโองการ จำนวน 89 องค์ เพื่อนำมาจัดพิมพ์ เป็นหนังสืออย่างงดงาม โดยคัดเลือกนักแปลมืออาชีพร่วมดำเนินงาน แปล เป็น 10 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย สเปน จีน ญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย และ ไทย เพื่อนำไปแจกจ่ายตามสถาบันการศึกษาหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ