xs
xsm
sm
md
lg

เด็กเลี้ยงง่ายแต่แรกเกิดมี 40% แนะพ่อแม่เพิ่มวัคซีนทางใจให้ลูก ไม่สร้างปัญหาสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตแนะวิธีสร้าง “วัคซีนทางใจ” ให้ลูก เพิ่มภูมิคุ้มกันทางใจ แก้ปัญหาตัวเองเป็น ไม่สร้างปัญหาสังคม เผยเด็กเลี้ยงง่ายมี 40% ปรับตัวช้า เลี้ยงยาก อย่างละ 15% และแบบผสมผสาน 30%

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นสัปดาห์รณรงค์การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก ให้วัคซีนป้องกันโรคแก่คนทุกวัย เช่น โรคโปลิโอ โรคคอตีบ เป็นต้น ให้ร่างกายมีภูมิต้านทานเชื้อโรคอันตรายป้องกันการเจ็บป่วยทางกาย สถานพยาบาลเป็นฝ่ายให้ แต่ในด้านของสุขภาพจิตใจหรือโรคทางจิตเวช ทั่วโลกยังไม่มีการผลิตวัคซีนป้องกันเป็นผลสำเร็จ ปัญหาที่เกิดมาจากสุขภาพจิตใจ อารมณ์ มักจะอยู่ในรูปของปัญหาสังคมความรุนแรงหรือที่เรียกว่าโรคระบาดทางอารมณ์และพฤติกรรม สถิติจากสถานพินิจเด็กและเยาวชนล่าสุดในปี 2557 มีเด็กและเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 25 ปี กระทำผิด 36,537 คน มีทั้งคดียาเสพติด คดีเกี่ยวกับทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย รวมทั้งการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยขาดภูมิคุ้มกันทางใจ

“ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ โลกเราอยู่ในยุคไซเบอร์ เทคโนโลยีสื่อสารมีความก้าวหน้า แต่ความสัมพันธ์ของบุคคลกลับห่างเหินและฉาบฉวย ต่างคนต่างอยู่ ปัญหาสังคมอาจทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ วัคซีนใจยังไม่มีขายที่ใดในโลก ได้มาจากการเลี้ยงดูเป็นหลัก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตฟันธงว่าพ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่จะเป็นคนให้วัคซีนใจแก่ลูก เริ่มตั้งแต่แรกเกิดและต่อเนื่อง กรมสุขภาพจิตมีนโยบายส่งเสริมให้ทุกครอบครัวหันมาใส่ใจเลี้ยงดูเด็กที่เกิดในรุ่นเจนแซด ซึ่งมีจำนวนการเกิดลดลงให้ถูกวิธี เพื่อสร้างวัคซีนใจ ให้เด็กไทยทุกคนมีภูมิคุ้มกันทางใจ มีจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็ง มีศักยภาพในการปรับตัว มีทักษะจัดการปัญหาชีวิต แก้ปัญหาด้วยตัวเองเป็น สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตและอยู่ร่วมกับคนอื่นๆในสังคมได้อย่างดีมีความสุข ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพแข็งแรง ไม่สร้างปัญหาให้สังคม” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า เมนูการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ใช้เป็นวัคซีนสร้างภูมิต้านทานทางจิตใจให้แก่เด็ก มี 6 เมนู ได้แก่ 1. ใหัความรักและเอาใจใส่สร้างสายใยผูกพัน เด็กจะมีจิตใจมั่นคง มีอารมณ์สุขุม หนักแน่น 2. ให้ลูกมีโอกาสได้เล่น เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมคนอื่น ฝึกการยอมรับ เรียนรู้การเป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม นำมาใช้ในชีวิตจริง 3. ให้ลูกมีโอกาสช่วยเหลือตนเอง เด็กจะรู้จักคิด รู้จักทำ มีความรับผิดชอบ รู้จักพึ่งพาตัวเอง 4. ฝึกนิสัยให้เด็กรู้จักการรอคอย การอดทน อดกลั้น เด็กจะควบคุมอารมณ์ได้ดี ยับยั้งชั่งใจสิ่งที่มายั่วยุ เคารพกฎเกณฑ์สังคม 5. เปิดโอกาสให้ลูกรู้จักปรับตัวเผชิญและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เด็กจะรู้จักพลิกแพลงแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และ 6. ฝึกลูกให้รู้จักการให้ การช่วยเหลือและเข้าใจคนอื่น ลูกจะเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น สามารถประสานความร่วมมือกับคนอื่นได้อย่างราบรื่น โดยพ่อแม่ต้องเริ่มให้ตั้งแต่แรกเกิดและต่อเนื่องทุกช่วงวัย ให้ผลดีที่สุดในช่วง 5 ขวบแรก ถือเป็นช่วงเวลาทองของชีวิต

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า พ่อแม่ที่ไม่ใส่ใจให้ความรักแก่ลูก เด็กจะขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นคงทางใจ แนวโน้มมีอารมณ์อ่อนไหว พ่อแม่ที่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง จะส่งผลให้เด็กทำอะไรไม่เป็น ขาดความรับผิดชอบ แก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ หากพ่อแม่ไม่ฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย เด็กจะเอาแต่ใจตัวเอง มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เครียดง่าย ระงับอารมณ์ไม่ได้ มีแนวโน้มก่อความรุนแรง หากพ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเด็กอื่น เมื่อโตขึ้นเด็กจะเข้าสังคมยาก ไม่รู้จักกติกาสังคม ไม่รู้จักการแพ้ ชนะ และอภัย เด็กที่พ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้รู้จักการปรับตัว จะกลายเป็นคนขาดความพยายาม ไม่อดทน ท้อถอยเมื่อเผชิญปัญหา และหากเด็กไม่ได้รับการฝึกให้รู้จักการให้ การแบ่งปัน เด็กจะเป็นคนเห็นแก่ตัว ใจคอคับแคบ เข้ากับคนอื่นยาก

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวต่อว่า หลักการเลี้ยงลูกให้ดีต้องเน้น 2 เรื่องหลัก คือ ความสัมพันธ์ครอบครัว และการสร้างกฎระเบียบในบ้านต้องชัดเจน ลดการบ่น กรณีที่เห็นลูกทำไม่ถูกต้อง ขอให้เลี่ยงการใช้คำพูดเชิงตำหนิเด็ก เช่นการพูดว่าทำไมลูกหรือเธอถึงเป็นแบบนี้ แต่ควรใช้คำพูดที่แสดงถึงความห่วงใยจากพ่อแม่แทน เด็กจะเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่รักใส่ใจ และหันมาพิจารณาทางเลือกที่ดีกว่าที่พ่อแม่แนะนำ ทั้งนี้อารมณ์และพฤติกรรมของเด็กเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งจากการเลี้ยงดู และปัจจัยของตัวเด็กเองซึ่งจะมีนิสัยติดตัวมาตั้งแต่เกิด 4 ลักษณะ ได้แก่ 1. เด็กเลี้ยงง่าย มีร้อยละ 40 เด็กกลุ่มนี้จะมองโลกในแง่ดี อารมณ์ดี 2. เด็กขี้กังวล ปรับตัวช้า พบร้อยละ 15 เด็กกลุ่มนี้ปรับตัวได้ช้ามาก 3. เด็กเลี้ยงยากพบร้อยละ 15 มักจะหงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง และ 4. ลักษณะผสมผสานที่กล่าวมาพบได้ร้อยละ 30 แต่ไม่ว่าเด็กจะมีลักษณะนิสัยติดตัวแต่เกิดมา อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ ให้เวลาดูแลอย่างเข้าอกเข้าใจ เด็กจะถูกหล่อหลอมให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง และปรับตัวได้อย่างเหมาะสมในช่วงชีวิตต่อมา เป็นดั่งวัคซีนใจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น