xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยไลฟ์สด “ฆ่าตัวตาย” เดือนละ 1-2 ครั้ง แนวโน้มเพิ่มขึ้น ห่วงเลียนแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตพบ “คนไทย” ไลฟ์สดฆ่าตัวตายเฉลี่ยเดือนละ 1 - 2 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลเกิดการเลียนแบบง่าย ย้ำพบเห็นรีบยับยั้ง อย่าส่งต่อ อย่าดูจนจบ ส่งผลเสียสุขภาพจิต

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการแพร่ภาพสด (live) การฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า ปัจจุบันมีมากขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 - 2 ราย ส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง มีปัญหาทุกข์ใจคล้ายๆ กัน หรืออาจเคยมีความคิดอยากตาย ถ้าเป็นเด็ก เยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่ออาจเข้าใจผิดคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย การตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น หากพบเห็นต้องรีบยับยั้ง อย่าส่งต่อ และไม่ดูการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต เช่น รู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ ครุ่นคิด จนนอนไม่หลับ เป็นภาพติดตาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณเตือนมาก่อน เช่น จากคำพูด การเขียนจดหมาย การส่งเอสเอ็มเอส การส่งไลน์ การโพสต์ข้อความบนโซเชียล เป็นต้น แต่ก่อนลงมือมักจะลังเล พะวักพะวง ในระยะนี้การช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดจึงสำคัญ และป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุด ทั้งนี้ การปรากฏตัวในโลกโซเชียลฯ เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่าเขาอาจยังมีความลังเลอยู่ กำลังร้องขอความช่วยเหลือ ดังนั้น ให้ช่วยประวิงเวลา ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด สนทนาเรียกสติ ยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น ให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้ อย่านิ่งเฉย ท้าทาย เยาะเย้ย ด่าว่า หรือ ตำหนิ ควรโทร.แจ้ง 191 หรือขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323

“จากข้อมูลโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พบว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทยมีแนวโน้มค่อยๆ สูงขึ้น ล่าสุด ปี 2558 ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า สาเหตุเกิดจากปัญหาความรัก ความหึงหวง ร้อยละ 20 รองลงมา คือ โรคซึมเศร้า น้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักจะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย การดื่มสุราเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.0 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2564 สำหรับแนวทางป้องกันในระดับบุคคล โดยพื้นฐานหลักแล้ว คือ การมีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจสงบมากขึ้น รวมทั้งการฝึกสติ ฝึกสมาธิ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ตลอดจนขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ในขณะที่ ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก็ต้องสื่อสารดีต่อกัน ตลอดจนเอาใจใส่กันและกัน ปัญหาการฆ่าตัวตายป้องกันได้ ทุกคนช่วยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น