xs
xsm
sm
md
lg

กรมสรรพาวุธทหารบก ฝึก 20 ครูฝึกพลฉุดชักราชรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสรรพาวุธทหารบก เริ่มฝึก 20 ครูฝึกพลฉุดชักราชรถ 7 ท่า เพื่อให้กำลังพลปฏิบัติตามแบบถูกต้อง พร้อมเพรียง สง่างาม สมพระเกียรติ เผยริ้วขบวน 2 ใช้กำลังพล 329 นาย เฉพาะพระมหาพิชัยราชรถหนักกว่า 14 ตัน

วันนี้ (25 เม.ย.)ที่กรมสรรพาวุธทหารบก พ.อ.เอนก กล่อมจิตร รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกพลฉุดชักราชรถ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า กรมสรรพาวุธทหารบกได้มอบหมายให้โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก รับผิดชอบในส่วนขบวนพระราชอิสริยยศ อัญเชิญพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นภารกิจสำคัญและมีเกียรติอย่างยิ่ง การจะทำให้ภารกิจสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมแรง ร่วมใจ ความเสียสละ ความอดทนจากทุกคน ไม่ว่าสภาพอากาศจะร้อน ได้ขอให้ครูฝึกพลฉุดชักราชรถตั้งใจถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้ารับการฝึกให้สามารถปฏิบัติตามท่าฝึกต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แข็งแรง และพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้การปฏิบัติในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งนี้เป็นไปด้วยความสง่างามและสมพระเกียรติ

พ.ต.สิทธิศักดิ์ ศรีนวลดี สังกัดกองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ (กรสย.) ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ (ศซส.) กรมสรรพาวุธทหารบก ในฐานะหัวหน้าครูฝึกพลฉุดชักราชรถ กล่าวว่า ริ้วขบวนแห่มี 6 ขบวน กรมสรรพาวุธทหารบกได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
โดยมีราชรถ 2 องค์ประกอบริ้วขบวน ได้แก่ ราชรถพระนำ และ พระมหาพิชัยราชรถ โดยจะใช้กำลังพลฉุดชักราชรถกว่า 300 คน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สำหรับการฝึกครูพลฉุดชักราชรถ จำนวน 20 คน เพื่อให้รับทราบขั้นตอนและวิธีการฝึกท่าต่างๆ โดยกำหนดฝึกครู 10 วัน เริ่มวันที่ 24 เม.ย. ถึงวันที่ 5 พ.ค. นี้ ซึ่งจะฝึกวันละ 7 ชั่วโมง เพื่อให้มีความรู้และความชำนาญ ทั้งนี้ เมื่อได้รับกำลังพลฉุดชักแล้ว จะวางแผนการฝึก โดยมอบหมายให้ครูฝึก 5 คน จาก 20 คน แยกไปทำการฝึกพลฉุดชักราชรถพระนำที่หน่วยขึ้นตรงของกรมสรรพาวุธทหารบกในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ส่วนครูฝึกที่เหลือ 15 คน จะฝึกกำลังพลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถที่โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กทม. โดยตนจะฝึกพลฉุกชักประมาณ 6 - 7 ชั่วโมงต่อวัน โดยกองกำลังพลสรรพาวุธทหารบกเป็นผู้รับผิดชอบในการรับสมัคร และคัดเลือกกำลังพลทั้งหมด กำหนดส่วนสูง 170 เซนติเมตรขึ้นไป อายุไม่เกิน 48 ปี และต้องไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งระหว่างนี้ดำเนินการคัดเลือกและจะประกาศรายชื่อต่อไป

พ.ต.สิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ครูฝึกทั้ง 20 คน บางส่วนผ่านพระราชพิธีมาแล้ว บางส่วนไม่เคย จึงต้องนำครูฝึกทุกคนมาฝึกให้พร้อมเพรียง ภายหลังการฝึกของทุกวันจะออกกำลังกายร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย โดยในการฝึกนั้นท่าตรงในพระราชพิธีกำหนดให้ต่างจากท่าปกติเล็กน้อย คือ การยืนก้มหน้า สีหน้า และแววตาต้องแสดงความสงบสำรวม นอกจากนี้ ในการเดินของริ้วขบวน ได้กำหนดระยะก้าวของพลฉุดชักสั้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทำให้ใช้เวลาการเดินจากจุดเริ่มต้นไปถึงพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง นานขึ้น

สำหรับท่าทางที่ใช้ในการฉุดชัก มี 7 ท่า ได้แก่ ท่าตรง ท่าพัก ท่าหันอยู่กับที่ ท่าถวายบังคม ท่าหยิบเชือกและวางเชือก ท่าเดินตามปกติและท่าหยุด และท่าเดินตามจังหวะเพลงพญาโศกลอยลมและท่าหยุด อย่างไรก็ตาม ท่าฝึกเดินอย่างถูกต้องรอความชัดเจนจากกองทัพภาคที่ 1 อีกครั้ง ทั้งนี้ จังหวะการเดินของพลฉุดชักจะต่างจากกองเกียรติยศและทหารนำเล็กน้อย เนื่องจากพระมหาพิชัยราชรถมีน้ำหนักเฉลี่ย 14 ตัน แต่จะเดินเคียงคู่กันไป

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นริ้วขบวนที่สองจะมีพลฉุดชักรวม 329 นาย แบ่งเป็นพลฉุดชักราชรถน้อยหรือราชรถพระนำ 78 นาย พลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ 221 นาย กำลังพลเสริม 30 นาย นอกจากนี้ ยังมีส่วนเจ้าหน้าที่ประจำเกรินบันไดนาคอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ จำนวน 1 ชุด ชุดละ 40 นาย และอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถ จำนวน 40 นาย เพื่อเข้าสู่ริ้วขบวนที่ 3 อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนราชรถปืนใหญ่เพื่ออัญเชิญเวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ พลสำรองประจำเกรินบันไดนาค 10 นาย ช่างซ่อมฉุกเฉิน 20 นาย

“ท่าทางการฝึกของพลฉุดชัก เราพยายามสืบค้นจากเอกสารและสื่อต่างๆ ทั้งภาพนิ่งและภาพยนตร์ของสำนักพระราชวัง โดยแกะจากต้นแบบ แต่เมื่อทหารเข้ามารับผิดชอบการฝึกจึงนำวิธีการทหารเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้มีความสวยงาม พร้อมเพรียง เพราะท่าต่างๆ ไม่ยาก ส่วนใหญ่เป็นท่าฝึกทหารพื้นฐาน แต่เน้นให้ผู้รับการฝึกมีความอดทน มีระเบียบวินัย แข็งแรง พร้อมเพียงและสง่างามที่สุด” พ.ต.สิทธิศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น