กรมสุขภาพจิต แนะทางออก เคสพ่อพราก “เด็กแฝด” วัย 7 ขวบ จากอกยาย ต้องดูแลใกล้ชิด จัดกิจกรรมร่วมกันสร้างความคุ้นเคย เปิดช่องทางติดต่อยาย - ป้า รักษาสายสัมพันธ์ ช่วยเด็กปรับตัวปรับใจได้เร็วขึ้น ย้ำรับเด็กไปเลี้ยงดูต้องพูดคุยก่อนทั้ง 2 ครอบครัว ทดลองอยู่กับพ่อ หรือพ่อมาอยู่บ้านยาย สร้างความคุ้นชิน
จากกรณีคลิปสะเทือนใจเด็กหญิงฝาแฝดถูกพ่อแท้ๆ ใช้สิทธิตามกฎหมายมารับตัวเด็กไปเลี้ยงดู ท่ามกลางเสียงร้องไห้ของเด็กแฝดที่ไม่ยอมไปจาก “ยายและป้า” ที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่แบเบาะ หลังจากแม่แท้ๆ เสียชีวิตจากการคลอด เนื่องจากเด็กไม่รู้จักพ่อมาก่อน ขณะที่ยายและป้าก็ร่ำไห้เสียใจคิดถึงหลานแฝด
วันนี้ (24 เม.ย.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นปฏิกิริยาทางจิตใจทั่วไปของเด็กที่เกิดขึ้นได้เมื่อต้องพลัดพรากจากบุคคลที่รักและผูกพัน รวมทั้งสถานที่ที่คุ้นเคยมาก่อน เพื่อไปอยู่กับครอบครัวใหม่ทางฝ่ายพ่อที่มีความปรารถนาจะให้การเลี้ยงดูลูกตามกฎหมาย และอาจรุนแรงหากขาดการเตรียมพร้อมทางจิตใจมาก่อนล่วงหน้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความละเอียดอ่อนทางจิตใจ คล้ายๆ กับกรณีเด็กที่เพิ่งไปโรงเรียนครั้งแรก พบเห็นได้บ่อยในช่วงเปิดเทอม วิธีการทีดีที่สุดก่อนที่จะรับเด็กไปอุปการะดูแล ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งล้วนมีความรัก ความผูกพันกับเด็ก ควรมีการวางแผนร่วมกันก่อนอย่างต่อเนื่องและพูดคุยอธิบายให้เด็กรับรู้ ซึ่งเด็กวัย 7 ขวบนี้ มีความสามารถเข้าใจถึงเหตุผลได้แล้ว และค่อยๆ สร้างประสบการณ์ให้เด็ก เช่น ทดลองไปอยู่กับพ่อ หรือพ่อมาอยู่ที่บ้านยายและป้า เพื่อให้เด็กค่อยๆ ปรับตัว ปรับจิตใจ เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ มั่นใจและปลอดภัย
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงการปรับตัวของเด็ก จึงขอแนะนำดังนี้ 1. กรณีครอบครัวของพ่อ หลังรับเด็กมาอยู่ด้วย ขอให้พ่อและบุคคลในครอบครัวให้การดูแลใส่ใจเด็กอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ถึงแม้จะมีคู่แฝดเป็นเพื่อนใกล้ชิดพูดคุยกันได้ แต่ควรจะมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งที่เป็นที่พึ่งหลักให้เด็กทั้งสองได้พูดคุยพึ่งพาและเป็นที่พักพิงใจของเด็ก จะช่วยให้เด็กปรับตัวได้ง่ายขึ้น ควรจัดกิจกรรมร่วมกับเด็ก เพื่อสร้างความใกล้ชิดและคุ้นเคยซึ่งกันและกัน เช่น ทำกับข้าวดัวยกัน ทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ และคอยสังเกตอารมณ์จิตใจพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งช่วงแรกเด็กอาจยังมีความกังวล อึดอัด คับข้องใจ เศร้าซึมบ้าง โดยทั่วไปเวลาในการปรับตัวแต่ละคนอาจแตกต่างกันบางคนปรับตัวได้เร็ว บางคนช้า โดยหากเด็กยังมีอาการคงเดิม หรือเพิ่มขึ้นหลังจากใช้ชีวิตในครอบครัวใหม่เกิน 6 - 8 สัปดาห์ ควรปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อช่วยแนะนำการดูแลต่อไป
2. กรณีครอบครัวของยายและป้า ซึ่งจะเกิดความรู้สึกคิดถึงหลานเป็นธรรมดา การติดต่อสื่อสารโดยการโทรศัพท์พูดคุยกับหลาน นอกจากจะทำให้จิตใจทั้งเด็กและยายดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการรักษาสายสัมพันธ์ไว้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นวิถีทางที่จะช่วยให้เด็กปรับตัว ปรับใจได้เร็วขึ้น หรือการเดินทางไปเยียมเยียนซึ่งกันและกันเป็นครั้งคราว หากมีโอกาสก็พึงกระทำ และ 3. ส่วนของประชาชน สังคมรอบนอก ที่รับรู้และเห็นภาพเหตุการณ์ อย่าด่วนตัดสินเพียงภาพที่เห็น โดยเจตนารมณ์เป็นเรื่องของความรักความปรารถนาดีที่จะให้การดูแลเด็กทั้ง 2 คนอย่างดีที่สุด จึงขอให้สังคมอย่าโทษใครว่าเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายถูก แต่ขอให้ร่วมกันให้กำลังใจและชี้แนะวิธีปฏิบัติแก่ทั้ง 2 ฝ่าย โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ