xs
xsm
sm
md
lg

สกศ.ชวน “วัยเก๋า” Back to School พัฒนาทักษะอาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สกศ. เร่งขับเคลื่อนแผนศึกษาชาติ พัฒนาการเรียน “ผู้สูงอายุ” ชวน “วัยเก๋า” Back to School พัฒนาทักษะอาชีพ ถ่ายทอดประสบการณ์คนรุ่นหลัง นักวิชาการห่วงไทยยังไร้ระบบการศึกษาผู้สูงอายุชัดเจน ขาดแคลนครูสอน งบประมาณสนับสนุน

วันนี้ (24 เม.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวระหว่างเปิดการประชุมเสวนาสภาการศึกษา (OEC Forum) ครั้งที่ 17 เรื่อง การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวไม่ช้านี้ มีสถิติระบุว่า ปี 2564 มีผู้สูงอายุเกินร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 13 ล้านคน และก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2574 จำนวนผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 28 ประมาณ 18 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนอัตราการเกิดของเด็กมีเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผนให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาผู้สูงอายุไว้ชัดเจนคือ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณลักษณะและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนทุกช่วงวัยที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ยกระดับแหล่งเรียนรู้ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

ดร.กมล กล่าวว่า การจัดการศึกษาผู้สูงอายุในแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปี จึงต้องมีความพิเศษและสอดคล้องกับการจัดการศึกษาตลอด 5 ช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิด ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา วัยแรงงาน จนกระทั่งวัยสูงอายุ ทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยทั้งสิ้น การพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีทักษะความรู้ความสามารถเหมาะสมกับช่วงวัยนั้น ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ ผู้สูงอายุได้รับการบริการการศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพ ได้รับการส่งเสริมให้เข้าทำงาน สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้แก่คนรุ่นหลัง และสามารถเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มเติมในการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม

ด้าน ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญต่อการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ดำเนินงานภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการศึกษาเพื่อผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ (Active Ageing) ซึ่งเน้นให้มีสุขภาพที่ดี ปรับตัวเข้ากับสังคมได้เหมาะสม สามารถทำงานได้ มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ ฯลฯ แต่ยังไม่มีระบบการจัดการศึกษาผู้สูงอายุที่ชัดเจน เพราะส่วนใหญ่เป็นการจัดการศึกษาผสมผสานและยืดหยุ่นทั้งรูปแบบตามอัธยาศัยและเรียนในระบบตามที่หน่วยงานเห็นว่าเหมาะสมกับงบประมาณ สถานที่ และเวลา โดยกำหนดหลักสูตรที่เรียนอย่างสนุกสนานและรื่นเริงแก่ผู้สูงอายุเท่านั้น

“การดึงผู้สูงอายุเข้าสู่โรงเรียนอีกครั้ง (Back to School) ตามเป้าหมายของแนวคิด Active Aging ยังขาดเจ้าภาพหลัก ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความเข้าใจผู้สูงอายุ รวมทั้งขาดงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้หน่วยงานจัดการศึกษาทุกระดับให้ความสำคัญและบูรณาการการขับเคลื่อนการศึกษาผู้สูงอายุร่วมกันอย่างเป็นระบบ” ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว

นายประยุทธ หลักคำ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กลุ่มเป้าหมายพิเศษ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า กศน. ขับเคลื่อนการศึกษาของผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2557 เป้าหมายสำคัญคือ ลดสัดส่วนผู้สูงอายุติดบ้านและนอนติดเตียง หันมาติดสังคม โดยการดึงผู้สูงอายุออกจากบ้านมาร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมศักยภาพการเรียนรู้ ที่ผ่านมาดำเนินงานภายใต้คณะบูรณาการ 6 กระทรวง และ 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) การกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในปี 2559 พบว่า ผู้สูงวัยมีผลตอบรับอย่างสูงด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) และรู้สึกมีความสุขในการได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ในการสื่อสารกับสังคมออนไลน์ และการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน

นายประยุทธ กล่าวว่า กศน. มุ่งเน้นการให้ความสำคัญเพื่อสร้างบุคลากรภาคบริการ รองรับการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง โดยจัดหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 420 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันใช้เครือข่ายจัดการเรียนรู้ของกรมอนามัย สธ. เป็นกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้ดังกล่าว และพบว่า กลุ่มอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุร้อยละ 80 มีงานทำ ทั้งนี้ กศน. ใช้กลไก กศน. ตำบล อำเภอ จังหวัด และ กศน. ภาค ร่วมขับเคลื่อนดำเนินงานแก้โจทย์การจัดการเรียนรู้ผู้สูงวัยตามแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปี ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น