กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย เทศกาลวันไหลสงกรานต์พระประแดง เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอุบัติเหตุ ความรุนแรงการทะเลาะวิวาท
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค พร้อม นางสาวสมปอง โรจน์รุ่งศสิธร ผู้แทนสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 6 ชลบุรี ผู้แทนสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมลงพื้นที่ในกิจกรรมวันไหลสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้น “ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” วัตถุประสงค์หลักเพื่อลดอุบัติเหตุและความรุนแรงจากการทะเลาะวิวาทในพื้นที่ อันนำไปสู่การบาดเจ็บและการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ เรื่องของพฤติกรรมที่แสดงออกหลังจากการมึนเมาสุรา
นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลอุบัติเหตุจังหวัดสมุทรปราการ ย้อนหลังในระหว่างปี 2558 - 2560 โดยศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ พบว่า ในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุนั้น พื้นที่พระประแดงมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 รองจากเขตอำเภอเมือง และ อำเภอบางพลี โดยมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 17 ของการเกิดอุบัติทั้งหมด และพาหนะที่นำไปสู่การเสียชีวิตมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ จากตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดจากการมึนเมาจนนำมาซึ่งเหตุความรุนแรงที่เป็นเหตุการณ์น่าสลด ในเทศกาลวันไหลพัทยา ที่ผ่านมานี้นั้น เป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ โดยไม่มุ่งเน้นเพียงเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรง อนาจาร การแสดงออกทางภาวะทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเยาวชนคืออีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และร่วมมือในการป้องกันและป้องปรามก่อนนำไปสู่ความสูญเสียที่ยากจะแก้ไข โดยการป้องปรามที่สามารถเฝ้าระวังได้เบื้องต้น คือ การจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“กิจกรรมในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 6 ชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดความสนุกสนานของประชาชน เพียงต้องการสร้างความปลอดภัยและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการจัดงานเทศกาล ซึ่งเดิมเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมอันสวยงาม ซึ่งการเกิดเหตุที่ส่งผลเสียไม่เพียงผู้รับผลกระทบเท่านั้น ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้ประเทศด้วย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อุทาหรณ์จากความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีปัจจัยจากการดื่มสุราในอดีต จะเป็นเครื่องเตือนใจในการวางเป้าหมายเพื่อการดำเนินงานในการส่งเสริมสุขภาพ ลดการสูญเสีย และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นส่งเสริมภาพลักษณ์วัฒนธรรมของประเทศชาติ ต่อไป ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร. 02 590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.นิพนธ์ กล่าว