รพ.ขอนแก่น ยันของในถังไนโตรเจนที่ศุลกากรหนองคายยึดได้ขณะเตรียมส่งข้ามแดนไปลาว เป็น “อสุจิ” จริงทั้งหมด เล็งตรวจดีเอ็นเอเพิ่มให้ชัดเป็นของคนหรือสัตว์ สบส. เร่งตรวจสอบศูนย์ซูพีเรีย ประเด็นเจ้าของอสุจิ โยงอุ้มบุญต่างแดน หรือรักษามีบุตรยาก
ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคายจับกุมชายหนุ่มลอบขนถังไนโตรเจน ซึ่งภายในบรรจุหลอดใส่อสุจิ 6 หลอด ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งตรวจพิสูจน์ว่าใช่อสุจิจริงหรือไม่ เพื่อเอาผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิด โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. 2558 และขยายผลเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง โดยผู้หิ้วยอมรับว่านำมาจากคลินิกใน กทม. 4 แห่ง จนนำมาซึ่งการตรวจสอบคลินิก 2 แห่ง เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา
วันนี้ (22 เม.ย.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิก 2 แห่งจาก 4 แห่งที่ถูกกล่าวอ้าง เบื้องต้นไม่พบอะไรผิดปกติ และอีก 2 แห่งจะมีการตรวจในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ตรวจสอบก็เพื่อดูมาตรฐานของคลินิกแต่ละแห่ง แต่ข้อเท็จจริงแล้วต้องรอผลการตรวจสอบก่อน ว่า ในหลอดที่อยู่ในถังไนโตรเจน เป็นเชื้ออสุจิทั้งหมดหรือไม่ และภายในจะระบุได้ว่าเป็นของคลินิกใดเพิ่มเติม และมีหลักฐานต่างๆ มากกว่านี้ ซึ่งหากพบหลักฐานเพิ่มเติมก็สามารถเข้าตรวจสอบคลินิกได้อีกครั้ง
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ประเด็นของเรื่องนี้ต้องแยกให้ชัด เพราะขณะนี้สังคมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจาก 1. การตรวจสอบว่าเป็นเชื้ออสุจิหรือไม่ และเป็นของใคร เพื่อให้ทราบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนถังที่บรรจุอสุจิออกนอกประเทศด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อมีหลักฐานเบื้องต้นก็จะสามารถไปตรวจสอบและหาข้อมูลว่าคลินิกมีส่วนรู้เห็นกับการส่งออกนอกประเทศหรือไม่ เพราะหากเกี่ยวข้องก็จะมีความผิด ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ ต้องรอผลการตรวจสอบยืนยันเชื้ออสุจิ จากทาง รพ.ขอนแก่น ก่อน และ 2. สังคมอาจเข้าใจว่ามีการเชื่อมโยงว่า นำอสุจิไปอุ้มบุญที่ต่างประเทศหรือไม่ เพราะประเทศไทยมีกฎหมายเข้มงวด เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นการอุ้มบุญ และอาจกระทบต่อประเทศไทยในแง่ความเข้าใจสับสนกับเรื่องการรักษาภาวะมีบุตรยากได้
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที ออกมาแถลงว่าไม่มีส่วนรู้เห็น แม้ 2 หลอดใน 6 หลอด จะเป็นอสุจิที่มาฝากไว้ที่ศูนย์ฯ และมีหลักฐานมาแสดง แต่ สบส. ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีก เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเหมือนกันกับทุกคลินิก นอกจากนี้ กรณีเคสดังกล่าวยังไม่อยากให้ฟันธงว่าเป็นการอุ้มบุญ เพราะต้องไปตรวจสอบก่อนว่า เจ้าของสเปิร์มที่มาฝากกับทางคลินิกในไทยนั้น ขณะที่ฝากอาจยังอยู่ประเทศไทย แต่ทุกวันนี้อาจไปอยู่ต่างประเทศ จึงอยากขอย้ายอสุจิของตนหรือไม่ ตรงนี้ต้องไปตรวจสอบ แต่หากไม่จริงก็ต้องไปสืบว่าเป็นเพราะสาเหตุใด จะเชื่อมโยงกับการนำไปรักษาภาวะมีบุตรยากของตัวเอง หรือการอุ้มบุญ ทั้งหมดต้องรอหลักฐาน ปัญหาคือ หากเป็นเรื่องอุ้มบุญ หากออกนอกประเทศไปแล้ว และจับไม่ได้เหมือนกรณีนี้ ก็จะไม่สามารถไปเอาผิดได้ เพราะกฎหมายไทยใช้ได้เฉพาะภายในประเทศ
ด้าน นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ผลการตรวจสอบทั้ง 6 หลอดในถังไนโตรเจน พบว่า เป็นน้ำอสุจิทั้ง 6 หลอด และ รพ. ได้ทำการตรวจสอบดีเอ็นเอเพิ่มเติมออกไป เพื่อระบุให้ได้ว่าอสุจิเป็นของคนหรือของสัตว์ เนื่องจากหากเป็นของสัตว์นำออกไปไม่ผิดกฎหมาย แต่หากเป็นของคนจะผิดกฎหมาย คาดว่า ในส่วนนี้จะทราบผลภายในวันที่ 24 - 25 เมษายนนี้ แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ รพ.ขอนแก่น จะยืนยันจากการเห็นด้วยตาว่าเป็นของคน แต่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน อีกทั้งเมื่อตรวจดีเอ็นเอ หากมีผู้ต้องสงสัยจะได้ตรวจสอบได้ว่าดีเอ็นเอตรงกับอสุจิหรือไม่ รพ. ต้องดำเนินการให้รอบคอบ โดยเมื่อทราบผลทั้งหมดแล้ว รพ. จะส่งผลการตรวจสอบไปให้ สบส. เพื่อดำเนินการตรวจสอบและดำเนินทางกฎหมายต่อไป
นพ.ชาญชัย กล่าวว่า วิธีการตรวจว่าเป็นอสุจิจริงหรือไม่นั้น หลังจาก รพ. ได้รับสิ่งของที่อยู่ในถังไนโตรเจนแล้ว ต้องนำมาทำให้น้ำยาที่เป็นสารแช่แข็งละลายก่อน จากนั้นนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะทำให้รู้ได้ว่าเป็นอสุจิหรือไม่ ทั้งนี้ รพ.ขอนแก่น จะมีการแถลงให้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นในเวลา 18.00 น. ที่ รพ.ขอนแก่น