xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับช่วย “วัยชรา” อายุยืน “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัย เร่งพัฒนาศักยภาพครู ก เพื่อประเมินคัดกรองสุขภาพและภาวะสมองเสื่อม “ผู้สูงอายุ” พร้อมชู 4 วิธีช่วย “วัยชรา” มีอายุยืนยาว ยึดหลักไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย

วันนี้ (20 เม.ย.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย ปี 2553 - 2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) พบว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 20.5 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของจำนวนประชากรไทย และจากการประมาณการของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือนเมษายน 2560 พบว่า ประชากรไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 11.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ซึ่งผลการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 ปี 2557 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความชุกของภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 8.1 พบในผู้ชายร้อยละ 6.8 และผู้หญิงร้อยละ 9.2 และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความชุกของภาวะสมองเสื่อมก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับการประเมินคัดกรองสุขภาพและภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ พัฒนาทักษะกาย ใจ และมีคู่มือแนวทางการดูแลส่งเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการถ่ายทอดการดำเนินงานจากนโยบายสู่ระดับพื้นที่แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ (พัฒนาศักยภาพครู ก) เพื่อประเมินคัดกรองสุขภาพและสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง เมื่ออายุเพิ่มขึ้นการทำงานของสมองจะแย่ลงเรื่อยๆ จนมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน และสุดท้ายทำให้ผู้สูงอายุต้องเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในที่สุด ดังนั้น การป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีและสามารถช่วยเหลือ และพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กรมอนามัยมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาสุขภาพ โดยการคัดกรองผู้ป่วยสมองเสื่อมเบื้องต้น การพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูล การอบรมอาสาสมัคร การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาระบบบริการในการดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมการจัดสภาพแวดล้อมให้มั่นคงปลอดภัย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รู้จักตนเองและสิ่งรอบตัวตามความเป็นจริง เช่น การดำเนินงานตำบลดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (ตำบล Long Term Care) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงระบบบริการอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม และเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุกับภาวะสมองเสื่อม

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุด้วยแนวคิดไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย หรือ 4 Smart ได้แก่ 1) Smart Walk คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 - 60 นาที ด้วยการบริหารร่างกายท่าต่างๆ การเดินอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 6,000 - 8,000 ก้าว ในผู้สูงอายุที่ปกติ สำหรับผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่แข็งแรงอาจจะเริ่มต้นที่ 3,000 ก้าว หรือเดินแบบสะสมเฉลี่ยวันละประมาณ 3 กิโลเมตร 2) Smart Brain คือ การดูแล ฝึกฝนทักษะทางสมอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำให้ผู้สูงอายุฝึกสมองด้วยการเล่นเกมต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ รณรงค์เรื่องไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดี เพื่อความสามารถในการบดเคี้ยวอาหาร มีฟันอย่างน้อย 20 ซี่ 4 คู่

3) Smart Sleep คือ การนอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 7 - 8 ชั่วโมง โดยนอนหลับในช่วงหัวค่ำและตื่นแต่เช้า หลีกเลี่ยงการกินอาหารและการออกกำลังกายก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนไม่หลับและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าตามมาได้ และ 4) Smart Eat คือ การกินอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล ซึ่งมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง
กำลังโหลดความคิดเห็น