xs
xsm
sm
md
lg

รพ.อุบลรัตน์ผุดโมเดล PPP แก้ปัญหาขาดทุนระดับ 7

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.อุบลรัตน์ ผุดโมเดล PPP แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง ดึงประชาชนร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาล - ผนึกแนวร่วมหน่วยราชการ - ประสานเอกชนลงทุนจ้างกำลังคนเพิ่ม

นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ประมาณปี 2554 โรงพยาบาลเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องจนขาดทุนในระดับ 7 เพราะโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนคนไข้มากแต่ได้รับงบประมาณน้อย โดยขณะนั้นมีปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูลได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะเกณฑ์การเบิกจ่ายจากกองทุนต่างๆ ซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียดและกติกามากและแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม กติกาเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลเองก็ต้องพยายามให้ครบถ้วน แต่ด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศคือคนที่ทำงานด้านข้อมูล หรือเชี่ยวชาญด้านการเก็บข้อมูลมีน้อย บางช่วงบางตอน จึงมีปัญหาเรื่องข้อมูลตกหล่น บกพร่อง และนำไปสู่การเบิกจ่ายที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นพ.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลอุบลรัตน์ มีการปรับตัวให้เก็บข้อมูลที่ดีขึ้นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ควรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนตัวก็ยังไม่ไว้วางใจสถานการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จึงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน จนนำมาซึ่งโมเดลการแก้ปัญหาที่เราเรียกว่า PPP ซึ่งมีองค์ประกอบหลักจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1. People คือ ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งดูตัวอย่างโครงสร้างจากวัด เพราะวัดไม่ได้อยู่ในระบบราชการ หรืออาศัยเงินจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ดึงให้ประชาชนให้เข้ามาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง มีคนบริจาคเงินช่วยเหลือ จะเห็นได้ว่าวัดที่อยู่ในหมู่บ้านที่จนมากๆ ก็ยังสวยงามและมีทุกอย่างครบถ้วน ฉะนั้นโจทย์คือเราต้องเอาประชาชนเข้ามาร่วมให้ได้

“การเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีรูปธรรมอย่างแท้จริงด้วย เราก็ต้องเริ่มหาว่าประชาชนอยากได้อะไร และพบว่าสิ่งที่ประชาชนอยากได้จริงๆ คือ ห้องพิเศษของโรงพยาบาลรัฐที่ราคาไม่แพง จึงได้ร่วมกับพระคุณเจ้าจัดสร้างอาคารและห้องพิเศษขึ้น 20 ห้อง เปิดโครงการให้บริจาควันละ 3 บาท ปีละ 1,000 บาท ประชาชน 1 หมื่นคน ก็เป็นเงิน 10 ล้านบาท ตรงนี้อยู่ในหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เมื่อเจ็บป่วยก็มีห้องพิเศษใช้ และเงินส่วนนี้ยังช่วยให้โรงพยาบาลนำไปจัดบริการที่ดีขึ้นได้อีกด้วย” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว

นพ.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2. Public คือ หน่วยราชการ ซึ่งงบประมาณจากส่วนนี้ก็ตรงไปตรงมาจาก 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ ขณะเดียวกัน ก็พยายามมองหากลไกอื่นๆ ที่มีงบประมาณเข้ามาช่วย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อำเภอ หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ตรงนี้ก็ทำเป็นโครงการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขเช่นกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไปวิ่งหาเตียง ต่างคนต่างไปวิ่งหาครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเมื่อมาร่วมกันทำแล้วก็ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3. Private sector ก็คือภาคเอกชน ขณะนี้มีกฎหมายฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ. คนพิการ ซึ่งในมาตรา 33 ระบุว่า เอกชนที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างพนักงานที่เป็นผู้พิการ 1 คน แต่หากบริษัทใดไม่ประสงค์จะจ้างเองก็มีมาตรา 34 เปิดช่องไว้ว่าให้สามารถสมทบทุนให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปีละประมาณ 1 แสนบาท หรือมีมาตรา 35 ที่ระบุว่า ให้สมทบวันละ 300 บาท หรือประมาณปีละ 1 แสนบาท เพื่อให้หน่วยสาธารณประโยชน์ หรือโรงพยาบาลไปจ้างคนพิการเข้ามาดำเนินงาน

“ตอนนี้เราได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท SCG โดยปีที่แล้วจ้างให้ 10 คน ซึ่งเราก็ได้บุคลากรมาช่วยดูแลผู้ป่วย และทำงานธุรการอื่นๆ ซึ่งถือว่าโรงพยาบาลประหยัดได้จำนวนมาก ซึ่งในระยะยาวเราก็คาดหวังว่าหากเอกชนจะสนับสนุนให้ผู้พิการได้ปลูกผักปลอดสารที่บ้านแล้วมาขายโรงพยาบาลในวอลุ่มวันละ 300 บาท ก็จะทำให้เรามีอาหารปลอดสารเคมีไว้บริการผู้ป่วย และประหยัดรายจ่ายโรงพยาบาลได้” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าวและว่า ปัจจัยของความสำเร็จจริงๆ อยู่ที่การบริหารจัดการและสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิดให้คนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาลอย่างแท้จริง โดยไม่รอพึ่งพิงรัฐบาลอย่างเดียว เนื่องจากรัฐบาลมีลูกหลายคนต้องดูแลลูกหลายคน ฉะนั้น ถ้าเราดูแลตัวเองได้ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี
กำลังโหลดความคิดเห็น