xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเพิ่มจังหวัดให้ “แรงงานต่างด้าว” ทำงานไปกลับได้ แก้ขาดแคลนแรงงานเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน เล็งเพิ่มพื้นที่ให้ “แรงงานต่างด้าว” ทำงานแบบไปกลับได้ ในจังหวัดไม่ติดชายแดน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร พร้อมเตรียมออกใบอนุญาตทำงานในรูปแบบ Smart card เพิ่มความสะดวกการตรวจสอบ

วันนี้ (20 เม.ย.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ซึ่งมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 - 2564 และจัดตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อมาขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ รวมทั้งยังมีการพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรหรือแรงงานตามฤดูกาล ในจังหวัดที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มรายชื่อจังหวัดที่มีความจำเป็นด้วย เช่น ระยอง ปราจีนบุรี และ ลำพูน เพื่อให้แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 14 สามารถเดินทางไปทำงานได้ในลักษณะตามฤดูกาล แต่ในที่ประชุมยังมีข้อห่วงใยเรื่องความมั่นคง เนื่องจากเป็นแรงงานที่ไม่มีหนังสือเดินทาง แต่ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวเข้ามาทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) พิจารณาอีกครั้งใน พ.ค. นี้ หากได้รับความเห็นชอบจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

“เดิมอนุญาตให้ทำงานในท้องที่ตามความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน หรือการเดินทางข้ามแดน หรือการข้ามแดนระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และท้องที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่ในข้อเท็จจริงยังมีความต้องการแรงงานในจังหวัดอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกับจังหวัดที่ติดชายแดน ซึ่งเป็นงานประเภทเดียวกัน ได้แก่ แรงงานเก็บผลไม้ ตัดอ้อย เก็บสับปะรด เป็นต้น” นายวรานนท์ กล่าว

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาตและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ใบอนุญาตทำงานในรูปแบบ E - Work Permit จะเป็นใบอนุญาตทำงานที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบบัตรพลาสติก หรือสมาร์ทการ์ด ซึ่งง่ายต่อการพกพา มีระบบป้องกันในการปลอมแปลง และง่ายในการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนตรวจสอบจาก QR Code ที่ปรากฏบนบัตร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลตางประเทศ (MOU) โดยจะได้รับใบอนุญาตทำงานแบบ E - Work Permit ภายใน เม.ย. นี้ ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดสระแก้ว หนองคาย และ ตาก ซึ่งจะนำร่องในจังหวัดตากเป็นแห่งแรก เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว สำหรับแรงงาน MOU ที่ได้รับใบอนุญาตทำงานแบบเดิม เมื่อมาขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน จะได้รับใบอนุญาตทำงานแบบ E - Work Permit เช่นกัน

นายวรานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2560 ซึ่งมีแรงงานยื่นขออนุญาตทั้งหมด 107,908 คน และขณะนี้เดินทางกลับมาแล้ว 47,556 คน ซึ่งเมื่อครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2560 หากแรงงานต่างด้าวยังไม่เดินทางกลับมาและต้องการเข้ามาทำงานใหม่ จะต้องขออนุญาตเข้ามาอย่างถูกต้องโดยใช้หนังสือเดินทางเท่านั้น ทั้งนี้ หลังวันที่ 30 เม.ย. จะมีการตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวกับนายจ้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบทำงาน หากตรวจพบว่านายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวที่กลับมาทำงานหลังผ่อนผัน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ... ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการปรับในอัตราโทษสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใหม่ โดยโทษปรับเริ่มตั้งแต่ 400,000 บาทจนถึง 800,000 บาท แต่หากมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 800,000 - 2 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น