รมว.สธ. แจงการจัดสรรงบเร่งด่วน 5 พัน ล. บรรเทาปัญหา รพ. ขาดสภาพคล่อง กระจายเป็นงบผู้ป่วยใน 3,000 ล. ค่าตอบแทน 1,000 ล. ดูแลเด็กแรกเกิดวิกฤต 300 ล. และชำระหนี้ สปสช.ติด สธ. อีก 600 ล. ย้ำ รพ. ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการงบ หารายได้เพิ่มจากคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโรงพยาบาลสังกัด สธ. ขาดสภาพคล่อง ว่า งบประมาณที่ได้รับมานั้น สธ. จะนำมาจัดสรรกระจายไปในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้ 1. งบดูแลผู้ป่วยใน 3,000 ล้านบาท 2. สนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยทารกวิกฤต จำนวน 300 ล้านบาท รองรับการดูแลทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยที่ได้รับการดูแลจนออกจาก ไอ.ซี.ยู. 3. ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) จำนวน 1,000 ล้านบาท และ 4. ชำระหนี้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ติดกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 600 ล้านบาท ทั้งนี้เชื่อว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรในครั้งนี้ จะสามารถบรรเทาปัญหาการขาดสภาพคล่องของ รพ. ได้ระยะหนึ่ง แต่ในอนาคตต้องมีปรับแก้ไขระบบทำให้โรงพยาบาลสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมปรับให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพ มีความหนาแน่นปรับตัว เปิดการให้บริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ เพื่อใช้ประโยชน์จากสถานที่ราชการ ทั้งห้องผ่าตัด ห้องตรวจรักษา เพื่อเพิ่มรายได้ให้ รพ. ช่วยลดความแออัดในเวลาราชการ สำหรับประชาชน ที่มารับบริการและมีศักยภาพในการจ่าย และต่อไปทาง รพ.แต่ละแห่งต้องปรับตัวทำงานเชิงรุกกันมากขึ้น ซึ่งหากสามารถทำได้ สถานะทางการเงินของ รพ.ก็จะเกิดความสมดุลในการบริหารงบประมาณ และสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ต่อไปในอนาคตต่อไป คือ การแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้กันมากกว่า 15 ปี แล้ว