รมว.สธ. เชื่อ อนาคต “คนไทย” เข้าใจ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” มากขึ้น ปัญหาขอใช้สิทธิยูเซป ฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีลดลง ย้ำเข้ารักษา รพ. ใกล้สุดก่อน เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการ
วันนี้ (19 เม.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (บอร์ด กพฉ.) กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด กพฉ. ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) หลังดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2560 ช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วในภาวะวิกฤตฉุกเฉินของชีวิต โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะมีแต่ละกองทุนสุขภาพเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ที่ผ่านมา พบปัญหาร้องเรียน 6 รายจากผู้ที่มาขอใช้สิทธิ 1,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นความไม่เข้าใจเรื่องหลักเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณา และจะกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่อไป มั่นใจว่าในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะลดลง
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องเข้าใจคำว่า วิกฤตชีวิต ขอให้นำผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการหากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับอาการฉุกเฉินวิกฤต 6 ข้อที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ 1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่รู้สึกตัว 2. อาการทางสมอง มีการรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3. หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ 4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5. อวัยวะฉีกขาดเสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6. อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 - 17 เมษายน 2560 มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าเกณฑ์รับบริการทั้งสิ้น 715 ราย จากผู้ขอใช้สิทธิทั้งหมด 1,773 ราย มากที่สุดคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รองลงมาคือ สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนอื่นๆ ประชาชนหรือสถานพยาบาลมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ โทร. 02-8721669 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ucepcenter@niems.go.th