xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจพบสารอันตรายในของเล่น “รูบิก” ทำลายสมองเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตรวจพบ “สารอันตราย” ใน “ลูกบิดรูบิก” ชี้ กระทบพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท เตรียมผลักดันมาตรการคุมเข้ม เผย พบเช่นเดียวกับประเทศอื่น ร่วมกับองค์กรต่างประเทศผลักดันทั่วโลกห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลผลิตของเล่นเด็ก

วันนี้ (19 เม.ย.) นายอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (ไอเพน : IPEN) สมาคมอาร์นิกา และองค์กรอื่นๆ ใน 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศ ทำการสำรวจตัวอย่างของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งมีสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีสารโบรมีน ในหลายๆ ประเทศ ประกอบด้วย ลูกบิดรูบิกจำนวน 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสาร Octabromodiphenyl ether (OctaBDE) สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ สาร Hexabromocyclododecane (HBCD) ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีองค์ประกอบของโบรมีน

นายอัครพล กล่าวว่า ผลวิเคราะห์พบว่า มีของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดที่มีสารกลุ่มนี้ปนเปื้อนสูงกว่า 50 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ก่ออันตรายต่อร่างกายได้ โดยพบว่า ร้อยละ 90 ของตัวอย่างทั้งหมดที่นำมาตรวจวิเคราะห์ หรือจำนวน 100 ตัวอย่าง มีสาร OctaBDE เข้มข้นตั้งแต่ระดับ 1 - 1,174 ppm ร้อยละ 41 หรือจำนวน 45 ตัวอย่าง มีสาร HBCD เข้มข้นอยู่ในระหว่าง 1 - 1,586 ppm และร้อยละ 91 หรือจำนวน 101 ตัวอย่าง มีสาร DecaBDE เข้มข้นอยู่ในระหว่าง 1 - 672 ppm สำหรับการสำรวจในประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สุ่มตรวจตัวอย่างลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่าง และพบว่า 2 ตัวอย่างมีสาร OctaBDE และ DecaBDE ปนเปื้อนในระดับสูง และ 1 ตัวอย่างมีสาร HBCD ปนเปื้อนในปริมาณสูง

“โดยทั่วไปสารกลุ่มนี้จะถูกใช้ในการผลิตพลาสติกจำพวกแผงวงจรไฟฟ้า กล่องหรือฝาครอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น จอเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน และถูกนำไปรีไซเคิลโดยไม่มีการกำจัดสารอันตรายกลุ่มนี้ออกเสียก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สารกลุ่มนี้ยังสามารถสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม พืช และสัตว์ และยังสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากการหายใจ การสัมผัส และการรับประทานอาหารที่มีสารเหล่านี้สะสมอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง สามารถทำลายระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา หรือ ไอคิว (IQ) ของเด็ก อีกทั้งยังก่อให้เกิดมะเร็งในตับได้ จึงไม่ควรนำมาผลิตของเล่นเด็กโดยเด็ดขาด และควรมีมาตรการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อเด็กออกจากท้องตลาดด้วย” นายอัครพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น