xs
xsm
sm
md
lg

มหกรรมวัฒนธรรม “หุ่นไทย-อาเซียน” ใต้ร่มพระบารมี 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มหกรรมศิลปะการแสดงหุ่นร่วมสมัยไทย-อาเซียน” ใต้ร่มพระบารมี 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจ ในปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง จะจัดแสดงโชว์ระหว่างวันที่ 20 - 25 เมษายน 2560 ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ 4 เวที
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ 7 ชาติในอาเซียน ได้แก่เวียดนาม เมียนม่าร์ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย สิงคโปร์ ซึ่งครั้งนี้มีคณะหุ่นไทยและหุ่นอาเซียน กว่า 50 คณะ ขนหุ่นมาจัดแสดงโชว์เพื่อให้ชาวไทยและต่างประเทศ ได้ชมฟรี
การจัดงานครั้งนี้ ผู้ชมจะได้ซาบซึ้งไปกับศิลปะการแสดงหุ่นประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นหลวง หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หุ่นสาย หุ่นเงา หนังใหญ่ หุ่นมือ และหุ่นร่วมสมัยอื่น ๆ จากทั่วประเทศไทยและประเทศอาเซียนไม่น้อยกว่า 7 ประเทศ จะได้อิ่มเอมไปกับศิลปะการแสดงที่ทรงคุณค่า ล้วนงดงาม วิจิตร เช่น หุ่นหลวง ซึ่งในอดีตใช้จัดแสดงเฉพาะใน พระราชพิธีสำคัญเท่านั้นปัจจุบันหาชมได้ยากมาก หรือหุ่นกระบอก หุ่นที่มีความงดงามในรูปลักษณ์ตัวหุ่นที่แตกต่างกัน หุ่นสายหุ่นที่มีเทคนิคการเชิดที่สวยงามอ่อนช้อย หุ่นมือ หุ่นที่เหมาะกับเด็กเยาวชน โดยเฉพาะใครที่ชื่นชอบหุ่นเจ้าขุนทอง ต้องมาพบกันในงานนี้เท่านั้น รวมถึงหุ่นจากภูมิภาคต่าง ๆ เช่น หนังใหญ่ หนังบักตื้อ หนังตะลุง หุ่นมือและหุ่นเงาร่วมสมัย รวมทั้งศิลปะการแสดงอื่น ๆ จากหน่วยงานต่าง ๆ อีกมากมาย
นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้จัดนิทรรศการหุ่นร่วมสมัยไทย-อาเซียน ชั้น 1 หอศิลป์ร่วมสมัย ราชดำเนิน วันที่ 19 - 30 เมษายนนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงหุ่นของไทยและอาเซียน ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา เพราะหุ่นจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป
สำหรับเวทีการแสดงหุ่นร่วมสมัยไทย-อาเซียน จัดระหว่างวันที่ 20-25 เมษายน ในพื้นที่ 4 เวที เริ่มจากเวทีแรก ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน นอกจากจะได้ชมนิทรรศการหุ่นร่วมสมัยไทย - อาเซียน แล้ว เวทีการแสดงจะเริ่มตั้งแต่ 13.00 น. เป็นต้นไป คณะหุ่นที่เข้าร่วม ได้แก่ หุ่นกระบอกโบราณ โดยหุ่นกระบอกยายชะเวง หุ่นเจ้าขุนทอง หุ่นกระบอกบ้านตุ๊กตุ่น หุ่นสายเสมา หุ่นสายท๊อฟฟี่ หุ่นสายโจ หน่า หุ่นเงาโจ๊ะมาลอลือ หล่า และกิจกรรมการเสวนา การทำ Work Shop เกี่ยวกับหุ่นสำหรับเด็กเยาวชน และประชาชนที่สนใจ ในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ของทุกวันด้วย
เวทีที่ 2 ที่โรงละครแห่งชาติ (โรงใหญ่) ระหว่างเวลา 16.00 - 17.00 น.นอกจากจะได้ชมการแสดงหุ่นอาเซียนจาก 7 ประเทศ เราได้จัดแสดงนาฏยศาลาหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เรื่อง “พระมหาชนก” เป็นชุดพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 20 - 23 เมษายน 2560 วันละ 1 รอบ นอกจากนี้ ยังมีหุ่นที่หาชมได้ยาก ได้แก่ หุ่นหลวงคณะครูไก่ “ไก่แก้วการละคร” ที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นและนำมาจัดแสดงให้ทุกท่านได้ชม รวมไปถึงหนังใหญ่วัดขนอน ซึ่งได้ขึ้นเป็นมรดกโลกเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย
เวทีที่ 3 ที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เวลา 16.00 - 21.00 น. ซึ่งเวทีนี้ผู้ชมจะได้ชมความหลากหลายของหุ่น ได้แก่ หุ่นกระบอกคณะเบญจสิกขรา หุ่นละครเล็กคลองบางหลวงคณะคำนาย หุ่นคนจากมหาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หุ่นมือคณะ Mommy Puppet และหุ่นสายเยาวชนอีกหลายคณะจากทั่วประเทศ รวมถึงการแสดงพื้นบ้านจากชุมชนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ส่วนเวทีที่ 4 การแสดงหุ่นไทยร่วมสมัย ที่สวนสันติชัยปราการ เวลา 19.30 - 20.30 น.จะได้ชมการแสดงหุ่น ประเภท หนังตะลุง หนังตะลุงคณะอาจารณรงค์ หนังตะลุงคณะวาทีทรัพย์สิน จากชายแดนใต้ หนักบักตื้อจากแดนอีสาน หนังใหญ่ หุ่นละครเล็ก และหุ่นร่วมสมัยอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมกันนี้ จะได้ชมการแสดงด้านนาฏศิลป์ไทยที่งดงาม โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
ดร.สมชาย ฟ้อนรำดี รักษาการตำแหน่งรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวว่า ที่โรงละครแห่งชาติ จะจัดการแสดงพระมหาชนก ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากนี้ จัดมหกรรมโปงลาง เป็นการแสดงภาคอีสานโดยลายเพลงครั้งนี้จะพิเศษเพื่อยกย่อง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ส่วนเวทีสวนสันติชัยปราการ จัดแสดงโขน การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค อย่าง ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว การแสดงระบำต่างๆ และวงดนตรีสากล ซึ่งวงดนตรีที่มาแสดงล้วนแล้วได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ
“บริเวณสวนสันติชัยปราการ จัดการแสดงหลากหลาย ทั้งโขน การแสดงพื้นบ้าน และดนตรีสากล เพราะถนนพระอาทิตย์มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก เขาจะได้เห็นมรดกภูมิปัญญาของไทย”
นอกจากนี้บริเวณลานคนเมือง ยังมีสินค้าทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร และสวนสันติชัยปราการ มีสินค้าชุมชนบางลำพู จำหน่ายด้วย พร้อมกันนี้ภายในงานมีปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านมาถ่ายทอดความรู้ให้เด็ก เยาวชน ผู้สนใจได้เรียนรู้
ป้าหมี หรือ นางพัฒนกุล ทวีสาคร ปราชญ์เรือกระทงกาบมะพร้าว ชุมชนวัดโพธิ์เรียง กรุงเทพฯ ป้าหมี จะมาสอนขั้นตอนการทำเรือกระทงกาบมะพร้าว เมื่อทำเสร็จแล้วจะได้เรือกระทงซึ่งประดิษฐ์ด้วยตัวเองติดไม้ติดมือกลับบ้าน
ป้าหมี เล่าให้ฟังว่า เรือกระทง จะถูกตกแต่งให้เกิดความสวยงาม เมื่อทำเสร็จแล้วถือกลับไปประดับบ้านหรือจะเก็บไว้ลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทงก็ได้ ซึ่งเรือกระทงของป้าหมีจะมีลักษณะเป็นเรือรับจ้างหรือเรียกว่าเรืออีโปง ซึ่งปัจจุบันนี้เรืออีโปงไม่มีให้เห็นแล้ว อย่างไรก็ตาม ป้าหมีไม่ได้สอนทำกระทงเท่านั้น ระหว่างที่สอนทำป้าจะสอดแทรกการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเรืออีโปงด้วย
ขณะที่ นายผดุง ใป๋สกุล ตัวแทนชุมชนมอญ วัดอัมพวัน จ.ลพบุรี จะมาสอนทำขนมปั้นแป้ง โดย นายผดุง กล่าวว่า ปัจจุบันขนมปั้นแป้งมีคนทำน้อยมาก เพราะต้องใช้ฝีมือสร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามตามจินตนาการของตนเอง ผมอยากสอนเด็กรุ่นใหม่ เนื่องจากการทำขนมดังกล่าวให้สวยงามได้นั้น จะต้องมีสมาธิ มีความประณีต ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สำคัญการทำขนมปั้นแป้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียน อ่านหนังสือ คือช่วยให้มีสมาธิ ตั้งใจเรียน ผลการเรียนจะดีขึ้นด้วย
ขอเชิญชวนเด็ก เยาวชน และประชาชน ชมศิลปะการแสดงหุ่น ในมหกรรมศิลปะการแสดงหุ่นร่วมสมัยไทย-อาเซียน ใต้ร่มพระบารมี 235 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างวันที่ 20 - 25 เมษายนนี้ ดูรายละเอียดได้ที่ www.ocac.go.th หรือสายด่วนวัฒนธรรม 1765 (เข้าชมฟรี)










กำลังโหลดความคิดเห็น