สธ.แนะวิธีแก้อาการเมาค้างหลังสงกรานต์ เตรียมพร้อมร่างกายก่อนทำงาน เปิด 8 สัญญาณเตือนง่วงหลับใน อย่าขับต่อ ป้องกันอุบัติเหตุช่วงเดินทางกลับ
วันนี้ (16 เม.ย.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ.กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันค่อนข้างมาก วันรุ่งขึ้นร่างกายอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย หรือที่เรียกว่า เมาค้าง วิธีการแก้ไขอาการดังกล่าวและเป็นการเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนทำงาน คือ ควรหยุดดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อช่วยให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานดี นอกจากนี้ ควรดื่มเครื่องดื่มที่อุ่น เช่น น้ำอุ่น หรืออาหารอุ่นๆ ที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม รวมทั้งรับประทานอาหารให้พอเหมาะ ครบ 5 หมู่
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับผู้ที่ดื่มติดต่อกันหลายวัน อาจมีอาการอดนอนสะสม ทำให้สมองตื้อ อ่อนเพลีย เสี่ยงต่อการหลับในทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย แนะก่อนเดินทางกลับให้เตรียมตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ขับรถต้องพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยเป็นเวลา 8 ชั่วโมง เพื่อลดอาการอ่อนเพลียที่เกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ สัญญาณเตือนของอาการง่วงนอนหลับในมี 8 ข้อสำคัญ 1. หาวบ่อย และหาวต่อเนื่อง 2. ใจลอย ไม่มีสมาธิ 3. รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย 4. จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาเมื่อ 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา 5. รู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัด6.รู้สึกมึน หนักศีรษะ 7. ขับรถส่ายไปส่ายมาหรือออกนอกเส้นทาง 8. มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร หากมีอาการเหล่านี้ควรจอดพักประมาณ 15 นาทีก่อนขับรถต่อ ล้างหน้า ดื่มเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นแก่ร่างกาย หรือเปลี่ยนคนอื่นขับ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ส่วนผู้ที่ใช้จักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้าย ให้สวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องเตรียมยาให้พร้อมสำหรับการเดินทาง