กรมจัดหางาน เผย ต่างด้าวกลุ่มอาเซียนทำงานในไทยรวมกว่า 1.3 ล้านคน ชี้ กลุ่มระดับฝีมือชำนาญการ ทั้งการสอน ผู้จัดการฝ่าย สถาปนิก วิศวกร พบ “ฟิลิปปินส์” ครองแชมป์ได้รับอนุญาตทำงานมากสุด 14,830 ตำแหน่ง
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การทำงานของคนต่างด้าวในกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่า มีคนต่างด้าวกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร จำนวน ทั้งสิ้น 1,380,349 คน โดยในประเภทระดับฝีมือชำนาญการนั้นมีจำนวน 24,823 คน เป็นมาตรา 9 (ทั่วไป) จำนวน 21,500 คน และมาตรา 12 ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 3,323 คน ซึ่งสัญชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. ฟิลิปปินส์ จำนวน 14,830 ตำแหน่ง 2. มาเลเซีย จำนวน 2,924 ตำแหน่ง 3. สิงคโปร์ จำนวน 2,034 ตำแหน่ง 4. เมียนมา จำนวน 1,948 ตำแหน่ง และ 5.อินโดนีเซีย จำนวน 1,279 ตำแหน่ง โดยอาชีพที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุดในกลุ่มทั่วไป (มาตรา 9) คือ ผู้ประกอบอาชีพด้านการสอน รองลงมาเป็นผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ และผู้ประกอบวิชาชีพด้านธุรกิจ ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาตรา 12 อาชีพผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด รองลงมาเป็นสถาปนิก วิศวกร และช่างเทคนิคด้านต่างๆ ตามลำดับ
นายวรานนท์ กล่าวว่า ขอย้ำเตือนว่า คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในระดับฝีมือชำนาญการในประเทศไทยจะต้องได้รับการอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน และต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน อีกทั้งยังต้องไม่เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามเงื่อนไข ดังนี้ 1. มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต 2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 3. ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 และ 4. ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลา 1 ปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต
“นอกจากนี้ คนต่างด้าวต้องไม่ขอทำงานตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 จำนวน 39 อาชีพ เช่น งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ งานให้บริการทางกฎหมาย งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว งานในวิชาชีพวิศวกรรม งานเร่ขายสินค้า งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้นงานตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว เป็นต้น โดยอายุของใบอนุญาตทำงานจะพิจารณาอนุญาตให้ตามความจำเป็นของงานหรือตามที่ขอ ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ปีต่อครั้ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวระดับฝีมือชำนาญการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน โทร. 02-245-2745 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694” นายวรานนท์ กล่าว