xs
xsm
sm
md
lg

วันที่ 2 สงกรานต์ดับแล้ว 82 ราย เจ็บ 1,049 คน เผย “โคราช” ยอดตายสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันที่สองช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุรวม 995 ครั้ง เสียชีวิต 82 ราย บาดเจ็บ 1,049 คน เผย นครราชสีมาเสียชีวิตสะสมสูงสุด สธ. พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง ฟันร้านเหล้าทำผิดกฎหมายแล้วกว่า 308 แห่ง ระบุ เจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่รถทั้ง 2 ฝ่าย ที่ประสบอุบัติเหตุ 2 วันแรก รวมกว่า 40 คน พบ 1 ใน 4 เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี

วันนี้ (13 เม.ย.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กทม. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในรอบ 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 - 12 เมษายน 2560 ว่า สถิติอุบัติเหตุในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 12 เมษายน 2560 เกิดอุบัติเหตุ 586 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 630 คน เสียชีวิต 48 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ เมาสุรา ร้อยละ 42.32 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 30.38 ยอดรวม 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 - 12 เมษายน มีอุบัติเหตุสะสม 995 ครั้ง บาดเจ็บสะสม 1,049 คน เสียชีวิต 82 ราย จังหวัดที่บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 48 คน เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ นครราชสีมา 6 ราย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ. เตรียมพร้อมสถานบริการทุกแห่ง มีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ 15,001 หน่วย มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 165,041 คน ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 11 - 13 เมษายน 2560 ณ เวลา 08.00 น. มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัด 7,263 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัสนอนพักรักษาในโรงพยาบาล 1,222 ราย โดยมีการดื่มสุรา 2,012 คน คิดเป็นร้อยละ 26 ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 18.34 ของผู้ที่ดื่มสุราทั้งหมด โดยในปี 2560 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่รถทั้ง 2 ฝ่าย ที่ประสบอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ดำเนินการไปแล้ว 40 ราย ในจำนวนนี้พบ 1 ใน 4 เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี

“ผลการตรวจเตือนบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 9 - 12 เมษายน 2560 ตรวจเตือนทั้งหมด 927 แห่ง พบผู้ประกอบการทำผิด 308 แห่ง ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 80 ราย รองลงมา ขายให้เด็กอายุต่ำอายุกว่า 20 ปี 67 ราย และการโฆษณาสื่อสารการตลาด 44 ราย โดยได้ตรวจเตือนทุกรายและส่งดำเนินคดี 7 ราย โดยโทษของการกระทำผิดมีดังนี้ 1. ขายโดยไม่มีใบอนุญาต ผิดตาม พ.ร.บ. สุรา ของกรมสรรพสามิต มีโทษปรับ 500 - 2,000 บาท 2. การโฆษณาเหล้า ลดแลกแจกแถม มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.สุวรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในวันนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 4 เรื่อง เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจราจร ได้แก่ 1. เน้นการเฝ้าระวังและตรวจจับอย่างเข้มข้น ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม การขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และในช่วงเวลาห้ามขาย 2. ให้มีการสอบสวนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสอบถามแหล่งจำหน่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลงพื้นที่ในการตรวจ/เตือน 3. ให้โรงพยาบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจาะเลือดตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ ถ้าไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ และกรณีนั้นเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รับผิดชอบค่าตรวจในช่วง 7 วันอันตราย 4. ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจและเตือนกลุ่มเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนและร่วมมือประชาคมตั้งด่านชุมชน และการนำเสนอข้อมูลผ่านศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด/อำเภอ

สำหรับการดำเนินการตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ตั้งแต่วันที่ 1 - 12 เมษายน 2560 มีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเข้าระบบ 1,123 ราย เข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินสีแดง 458 ราย ในวันที่ 12 มีจำนวน 119 ราย เข้าเกณฑ์ 42 ราย หากประชาชนเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินสีแดง สามารถเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือจุดเกิดเหตุที่ใกล้ที่สุดทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก หากประชาชนประสบเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินขอความช่วยเหลือได้ที่ หมายเลข 1669 และ สามารถสอบถามเรื่องสิทธิ UCEP ได้ที่หมายเลข 02 8721669 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น