อย. เตือนเลี่ยงกิน “ขนมควันทะลัก” เสี่ยงสัมผัส “ไนโตรเจนเหลว” ทำเนื้อเยื่อถูกทำลาย สูดดมมากถึงขั้นหมดสติ หากจะรับประทานต้องรอให้ควันระเหยออกไปให้หมดก่อน
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีการส่งคลิปเวียนการรับประทาน “ขนมควันทะลัก” ในสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ปัจจุบันมีกระแสความนิยมในการนำไนโตรเจนเหลวไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหาร เพื่อให้เกิดควันพวยพุ่งออกมา ซึ่งเป็นการปลุกกระแสสร้างความแปลกใหม่ ดึงดูดลูกค้าให้ซื้อสินค้าไปรับประทาน ซึ่งไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส มีประโยชน์ในการแช่แข็งอาหาร และ เก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องใช้ความเย็นจัด โดยทั่วไปการนำไนโตรเจนมาใช้กับอาหารเพื่อลดอุณหภูมิของอาหารให้มีอุณหภูมิต่ำลงอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่จุดเยือกแข็ง แต่ไนโตรเจนเหลวที่ใช้จะต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร และ ปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ฉบับที่ 4 หากใช้ในปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ หากตรวจพบว่ามีการใช้ไนโตรเจนเหลวในปริมาณมากจนเกินเหตุ และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.วันชัย กล่าวว่า สำหรับผู้บริโภค การรับประทานอาหารที่ผสมไนโตรเจนเหลว หลีกเลี่ยงการกิน สัมผัส หรือ สูดดม โดยตรง เสี่ยงได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง เพราะไนโตรเจนเหลวมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ ไนโตรเจนเหลวจะดูดซับความร้อนจากผิวหนัง เพื่อการระเหยอย่างรวดเร็ว และทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย คล้ายกับผิวหนังที่ถูกเผาไหม้ เหมือนนำไปสัมผัสกับกระทะร้อน ๆ หรือหากสูดดมก๊าซไนโตรเจนที่เกิดขึ้นโดยตรงอาจทำให้หมดสติได้ ต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยออกไปให้หมดก่อน จึงจะรับประทานได้