xs
xsm
sm
md
lg

แชร์ว่อน!! คลิปสาวฝรั่ง “ยืนคลอดลูก” แพทย์ชี้อันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิจารณ์หึ่ง! โซเชียลแชร์คลิปแม่ฝรั่งยืนคลอดลูก สูตินรีแพทย์เตือนอันตราย ชี้ คลอดเองไม่ผ่านการฝากครรภ์ 20% เกิดอันตรายต่อแม่และลูก ย้ำ คลอดลูกไม่ใช่เรื่องปลอดภัย 100%

วันนี้ (11 เม.ย.) พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลพิจิตร และโฆษกแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีการแชร์คลิปยืนคลอดแพร่กระจายในสังคมออนไลน์ จนอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าทำได้อย่างปลอดภัย จริงๆ แล้วกว่าจะคลอดลูกได้ โดยเฉพาะท้องแรกใช้เวลาถึง 8 - 10 ชั่วโมง จึงไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงแล้วในคลิปที่มีการแพร่กระจายในโซเชียล มีการเตรียมอะไร อย่างไรบ้าง หรือเป็นคลิปที่โชว์อย่างเดียว อาจไม่จริงทั้งหมดก็ได้ ปัญหาคือ อาจมีคนไปเลียนแบบ ในฐานะสูติ-นรีแพทย์ การยืนคลอด หรือคลอดเองโดยไม่ผ่านการตรวจจากแพทย์ ไม่ผ่านการฝากครรภ์ พบว่า ร้อยละ 20 อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตลูกและแม่ทีเดียว

พญ.ชัญวลี กล่าวว่า การคลอดลูกมีองค์ประกอบหลายประการ คือ แม่ต้องแข็งแรง ต้องไม่มีภาวะซีด ไม่มีเบาหวานความดันสูง และการตั้งครรภ์ต้องปกติ คือ รกต้องปกติ เกาะด้านบน ไม่ขวางด้านล่าง เพราะเสี่ยงตกเลือด และเด็กต้องอยู่ในท่าปกติ เด็กต้องออกมาโดยเอาหัวลงเป็นส่วนนำ แต่หากเด็กอยู่ท่าขวาง หรือหัวอยู่ข้างบน การคลอดไม่ปกติ เด็กอาจยื่นขาออกมาก่อนส่วนหัว หรือขวางออกมา ขณะที่เบ่งคลอด มดลูกอาจแตกได้ ทำให้แม่และลูกเสียชีวิตได้ ดังนั้น คนที่ยืนคลอดคือ ต้องตั้งครรภ์ปกติ และแม่แข็งแรงมากๆ การจะทราบได้ คือ แม่ต้องฝากครรภ์นั่นเอง

“การคลอดในปัจจุบัน สิ่งที่ประชาชนต้องทราบ คือ ไม่ใช่เรื่องปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีหญิงไทยที่คลอดลูกเสียชีวิตปีละ 100 กว่าคนจากการตกเลือดเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉพาะคนที่มีภาวะซีด จริงๆ แล้วตัวเลขนี้ยังน้อยกว่าตัวชี้วัดของประเทศไทยภาพรวมที่ระบุว่า ต้องไม่เกิน 20 คนต่อแสนการคลอด โดยเรามีการคลอด 7 แสนคน แสดงว่า ปีหนึ่งจะมีภาวะแม่คลอดเสียชีวิตได้ประมาณ 140 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 70 ต่อแสนการคลอด

อย่างไรก็ตาม แม้การตายจะยังไม่เกินตัวชี้วัด แต่ก็ถือว่าน่าตกใจ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มชายขอบที่มีการคลอดสูง ไม่มีการวางแผนครอบครัว ไม่มีการฝากครรภ์ หรือการเดินทางลำบาก อย่างเกิดภาวะตกเลือด กว่าจะเดินทางไป รพ. ซึ่งห่างไกลก็ไม่ทัน” พญ.ชัญวลี กล่าว

พญ.ชัญวลี กล่าวว่า การจะลดภาวะอันตรายเหล่านี้ อยู่ที่ประชาชนด้วย ต้องเตรียมพร้อม และต้องรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงอะไร อย่างกลุ่มแม่วัยรุ่นก็มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่การเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ และเสี่ยงมีภาวะซีดอีก คลอดยาก เชิงกรานแคบ เป็นต้น ส่วนกลุ่มอายุเกิน 35 ปี หากมีโรคประจำตัว อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน เมื่อตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเกิดเบาหวาน ความดันแทรกขึ้นมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น