น่านแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงไม่ถึง 5 แสนคน แต่ก็เป็นจังหวัดที่อัดแน่นไปด้วยมนต์เสน่ห์ของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งล้านนาตะวันออก เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าค้นหา น่าประทับใจ ทั้งสามารถดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ใครหลายๆ คนที่เคยไปแอ่วเมืองน่านแล้วต่างตกหลุมรักเมืองนี้เข้าเต็มเปา
ด้วยเหตุนี้ แลคตาซอย จึงถือฤกษ์ดีต้อนรับปีใหม่ไทย จัดกิจกรรมสร้างกุศลประจำปี “LACTASOY CHARITY 2017” ภายใต้ชื่อ “อิ่มบุญนานนาน...ที่น่าน” สานต่อเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้คนไทยใส่ใจทำบุญและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย โดยปีนี้ แลคตาซอยพาคณะบุญกว่า 140 คน เดินทางขึ้นเหนือไปเยือนจังหวัดน่าน ดินแดนล้านนาตะวันออกที่สืบทอดประวัติศาสตร์มายาวนานนับ 600 ปี
นายสามารถ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แลคตาซอย จำกัด หัวเรือใหญ่ในการจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ กล่าวว่า แลคตาซอยมุ่งมั่นจัดกิจกรรมการกุศลมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 โดยช่วง 13 ปีแรกเป็นการจัดแรลลี่ไหว้พระ 9 วัด ส่วนปีที่แล้วเป็นการล่องเรือทำบุญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่มีความพิเศษอย่างยิ่ง เพราะได้พาผู้ร่วมกิจกรรมเดินทางมาที่ จ.น่าน เพื่อทำบุญไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาเสริมสิริมงคลให้ชีวิต พร้อมเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและประเพณีอันงดงามของชาวเมืองน่าน ซึ่งการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะได้ทำบุญแล้ว ยังได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เนื่องจากแลคตาซอยจะนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปมอบให้กับองค์กรสาธารณกุศลอีกด้วย
อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม จ.น่าน เล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมา และพาซึมซับวิถีชีวิตชุมชนที่น่าสนใจ เริ่มด้วย กิจกรรมเรียนรู้ลองทำ "ตุงค่าคิง" หรือ "ตุงก้าคิง" ที่ วัดพระเกิด ซึ่งเป็นตุงสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของล้านนา โดยคนภาคเหนือเชื่อว่า "ตุง" คือ ธงที่พระพุทธเจ้าประกาศชัยชนะเหนือหมู่มาร คำว่า “ค่า” แปลว่า เท่ากับ คำว่า "คิง" แปลว่า ตัวเรา ดังนั้น ลักษณะของ "ตุงค่าคิง" จึงตัดให้มีความสูงเท่ากับตัวของผู้ทำตุง ถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวคนที่ทำ เพื่อใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีสืบชะตาหลวงตามความเชื่อล้านนา
สำหรับขั้นตอนการตกแต่งตุงจะเริ่มจากการติดจมูก ตา คิ้ว ปาก เพราะยึดหลักธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมาต้องหายใจได้ก่อน แล้วจึงมองเห็น และพูดได้ จากนั้นจึงติดปีนักษัตรของผู้ทำ แล้วจึงนำตุงถวายให้แก่วัดพระเกิด ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ รับโชค และเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ถวาย และทางวัดจะแขวนตุงไว้ภายในพระอุโบสถ เมื่อมีการสวดมนต์หรือทำพิธีทางศาสนาก็เหมือนกับเจ้าของตุงได้รับพรไปด้วย
อีกทั้ง การทำ "ตุงค่าคิง" ยังแฝงด้วยนัยยะสอนใจหลายประการ โดยการตกแต่งตุงทั้ง 2 ด้านให้สวยงาม ติดจมูก ตา คิ้ว ปาก ให้อยู่ในตำแหน่งที่ตรงกันนั้น เป็นการสอนให้ผู้ทำรู้จักตั้งสติ มีสมาธิ มีความมุ่งมั่น ซึ่งจะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ ส่วนตุงที่หมุนรอบตัวเอง 360 องศา สอนให้คนเรามองและพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน มีเหตุผล ไม่ตัดสินเพียงด้านเดียว
หลังจากถวายตุงแล้วก็เข้าสู่การเดินทางไหว้พระ ชมความงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่คู่เมืองน่าน เริ่มต้นที่ “วัดพระธาตุเขาน้อย” ร่วมสักการะพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งบรรจุอยู่ในองค์พระธาตุศิลปะแบบพม่าผสมล้านนา ด้านบนมีจุดชมวิวตัวเมืองน่านที่เห็นบรรยากาศของเมืองโอบล้อมด้วยขุนเขา บริเวณจุดชมวิวเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ซึ่งหันพระพักตร์ไปทางตัวเมืองน่าน
จากนั้นจึงเดินทางไปไหว้พระพุทธรูปทองคำที่ “วัดช้างค้ำ” ซึ่งประดิษฐานภายในวิหารที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา นามว่า “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี” เป็นพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ศิลปะสุโขทัยอันงดงาม
จุดหมายต่อไปเพียงเดินลัดเลาะข้ามถนนมายัง “วัดภูมินทร์” ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านพุทธศิลป์ คือ สร้างเจดีย์และพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกัน ทรงจัตุรมุข คล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว โดยมีความเชื่อว่าหากได้ลอดท้องรูปปั้นพญานาควัดภูมินทร์แล้วจะได้รับโชคดี ประสบความสำเร็จ สมปรารถนา ด้านในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของ “พระประธานจตุรทิศ” ปางมารวิชัย 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานเดียวกัน หันพระพักตร์ไป 4 ทิศ
อีกหนึ่งความโดดเด่นของพระอุโบสถ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม เขียนโดยช่างชาวล้านช้าง บอกเล่านิทานชาดกที่สอนให้คนทำความดี สอดแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต ซึ่งภาพโด่งดังของจิตรกรรมฝาผนัง คือ “ภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน” กระซิบรักอันลือเลื่อง และภาพ “โมนาลิซ่าเมืองน่าน” สาวงามแห่งเมืองน่านในยุคสมัยนั้น
นั่งรถต่อมาอีกไม่ไกลก็ถึง “วัดมิ่งเมือง” ซึ่งสวยงามด้วยศิลปะปูนปั้นสดสีขาว โดยงานฝีมือตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ด้านนอกเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองน่านที่ชาวน่านและนักท่องเที่ยวมักแวะเวียนมาสักการะขอพร จากนั้นมาต่อกันที่ “วัดศรีพันต้น” เพื่อสักการะพระสังกัจจายน์ อายุกว่า 500 ปี ซึ่งมีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดน่าน โดยเชื่อกันว่าจะช่วยให้หายจากอาการเจ็บปวดและโรคภัยต่างๆ
ปิดท้ายทริปอิ่มบุญที่น่าน ด้วยการร่วมพิธีสืบชะตาที่ “วัดพระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน มีองค์พระธาตุอายุกว่า 600 ปี สีทองอร่ามบุด้วยทองเหลือง สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะการก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ส่วนชื่อ “แช่แห้ง” นั้น อาจารย์สมเจตน์ ได้ถอดรหัสแปลความหมาย คำว่า “แช่” คือ ทุกข์ สมุทัย คำว่า “แห้ง” คือ นิโรธ มรรค ดังนั้น “แช่แห้ง” จึงเป็นนัยยะที่สอนให้มนุษย์ซึ่งอยู่ในสภาวะความทุกข์ รู้จักหาทางให้ตัวเองพ้นทุกข์ กล่าวคือ เมื่อแช่อยู่ในทุกข์ ก็ต้องหาวิธีให้ตัวเองแห้งหรือห่างจากทุกข์นั่นเอง
พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ซึ่งตรงกับปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงมีพระชนมชีพอยู่ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสืบชะตาหลวง หรือพิธีสืบดวงพระราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ขึ้นที่วัดพระธาตุแช่แห้ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในการประกอบพิธีสืบชะตาหลวง
หลังจากนั้นทางวัดจึงได้จัดพิธีสืบชะตาหลวงแบบพื้นเมืองน่านมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ที่เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุ หรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ขจัดภัยอันตรายต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย
นอกจากจะได้อิ่มบุญอิ่มใจแล้ว ผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ยังได้อิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนูอาหารเหนือ อิ่มตากับการเดินเล่นถนนคนเมือง ชมการแสดงทางวัฒนธรรม เลือกซื้ออาหาร เสื้อผ้า สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึกมากมาย สร้างความสุขและความประทับใจให้กับผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนเป็นอย่างมาก สำหรับผู้สนใจร่วมทำบุญอิ่มใจกับ แลคตาซอยในครั้งต่อไป สามารถติดตามข้อมูลได้ทาง www.lactasoy.com
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)