สบส. เผยเคส “นที สรวารี” ใช้สิทธิยูเซปรักษาฟรี 72 ชั่วโมงได้ เหตุ สพฉ. ตรวจสอบแล้วฟันธงชัดเข้าเกณฑ์ “วิกฤตสีแดง” หลังก่อนหน้านี้ แพทย์วินิจฉัยเป็นฉุกเฉินสีเหลือง ชี้ รพ. ไม่มีเจตนาวินิจฉัยเป็นสีเหลือง แนะควรคีย์ข้อมูลทุกเคสเพื่อความชัดเจน
จากกรณี นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เกิดอาการล้มฟุบในห้องน้ำ จนต้องนำตัวส่ง รพ.สินแพทย์ โดยพบว่า มีอาการเส้นเลือดในสมองแตก แต่ไม่สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก ตามโครงการนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (ยูเซป) ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นอาการฉุกเฉินสีเหลือง เมื่อพยายามติดต่อไป รพ.รัฐ ก็ไม่มีเตียงรองรับ และแพทย์แจ้งว่าหากไม่ผ่าตัดจะเสียชีวิต และแจ้งค่ารักษาทั้งหมด 4 แสนบาท จึงระดมขอความช่วยเหลือ
วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ กทม. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมตัวแทนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เดินทางมาตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งว่าอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นระดับใด โดย นพ.ธงชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีความก้ำกึ่งระหว่างเจ็บป่วยฉุกเฉินสีเหลือง และสีแดง ซึ่งแพทย์ รพ.สินแพทย์ ก็อาศัยคู่มือของ สพฉ. ในการคัดแยกกลุ่มอาการฉุกเฉิน ซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นเจ็บป่วยฉุกเฉินสีเหลือง จึงไม่เข้าเกณฑ์การใช้สิทธิยูเซป แต่ญาติมีข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นสีแดง ซึ่งแม้จะยังไม่ได้มีการร้องเรียนเข้ามายัง สบส. แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวทางโซเชียลมีเดียออกไป ก็ต้องเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งการเข้ามาให้ความกระจ่างนี้ก็เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนที่ว่าผู้ป่วยและญาติสามารถอุทธรณ์เรื่องคำวินิจฉัยของแพทย์ได้ ทั้งนี้ จากการนำข้อมูลผู้ป่วยเข้าสู่ระบบประเมินและบันทึกการประเมินผู้ป่วยในโปรแกรม Preauthorization ของ สพฉ. พบว่า ผู้ป่วยรายนี้เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดง ดังนั้น จึงสามารถใช้สิทธิยูเซปได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าว รพ. ถือว่ามีความผิดหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้ยังไม่ถึงขั้นร้องเรียนเข้ามายัง สบส. เพื่อเอาผิด รพ. คือ ยังอยู่ในกระบวนการที่สามารถพูดคุยกันได้ และจากการดูท่าทีและเจตนาของ รพ. ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้ รพ.สินแพทย์ ก็เคยมีการส่งข้อมูลผู้ป่วยเข้ามาในระบบ Preauthorization 5 ราย โดยวินิจฉัยว่า ทุกรายเป็นวิกฤตสีแดง แต่มี 1 รายที่ สพฉ. ยืนยันเองว่า เป็นสีเหลือง ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาดังกล่าวก็สะท้อนเจตนา รพ. ได้ ว่า ในผู้ป่วยรายนี้หรือ นายนที รพ. ไม่ได้จงใจที่จะวินิจฉัยให้เป็นฉุกเฉินสีเหลือง เพื่อเก็บเงินแต่อย่างใด และก็ยังไม่ได้มีการเก็บเงินด้วย เพียงแต่กรณีนี้มีปัญหา คือ ไม่ได้มีการคีย์ข้อมูลเข้ามาในระบบเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากคนทำงานยังมีความไม่เข้าใจที่ดีพอ เพราะถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของโครงการก็อาจมีความผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตาม หาก สพฉ. ยืนยันว่า เป็นวิกฤตสีแดง แต่ รพ. ยังยืนยันว่า ให้เป็นวิกฤตสีเหลืองเพื่อจะเก็บเงินก็สามารถร้องเรียนได้
เมื่อถามว่า ควรคีย์ข้อมูลเข้าระบบทุกรายหรือไม่ เพื่อป้องกันความผิดพลาดเช่นกรณีดังกล่าว นพ.ธงชัย กล่าวว่า ระบบดังกล่าว สพฉ. จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก เพราะระบบจะสามารถช่วยวินิจฉัยได้ว่าอาการของผู้ป่วยรายนี้เข้าเกณฑ์วิกฤตสีแดงหรือไม่ และจะพิมพ์ใบออกมาให้ญาติเซ็นรับทราบ และหากเป็นวิกฤตสีแดง ระบบก็จะช่วยประสานในการหาเตียงหลังพ้น 72 ชั่วโมงด้วย หรือแม้ระบบจะวินิจฉัยออกมาว่าเป็นฉุกเฉินสีเหลือง ญาติก็สามารถอุทธรณ์ให้ สพฉ. วินิจฉัยได้เช่นกัน
“การวินิจฉัยนั้นตามปกติจะแบ่งเป็นการวินิจฉัยเพื่อรักษาพยาบาล และวินิจฉัยเพื่อเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตามกฎหมายระบุเพียงว่า ให้แจ้งแก่ญาติทราบเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องคีย์ข้อมูลเข้าระบบทุกราย ดังนั้น รพ.จะคีย์หรือไม่ก็ได้ ซึ่งหากแพทย์มั่นใจว่าไม่เข้าเกณฑ์สีแดง เช่น เป็นสีเขียว ก็อาจไม่ต้องคีย์ข้อมูลก็ได้ แต่หากมีความก้ำกึ่งหรือไม่แน่ใจ ก็ควรคีย์ข้อมูลเพื่อให้ระบบช่วยวินิจฉัย ซึ่งจริงๆ แล้วก็อยากให้คีย์ข้อมูลทุกเคส เพราะต้องเข้าใจว่าช่วงเริ่มต้นโครงการอาจจะยังมีปัญหาเรื่องของความไม่เข้าใจระหว่างญาติผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ก็อยากให้มีการคีย์ข้อมูลเข้าระบบไว้ก่อน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 มีการคีย์ข้อมูลเข้ามาในระบบแล้ว 912 ราย เป็นวิกฤตสีแดง 385 ราย” นพ.ธงชัย กล่าว
ด้าน น.ส.อัจฉรา สรวารี ภรรยาของผู้ป่วย กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นนโยบายที่ดีในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ลงมาช่วยเหลือและให้ความชัดเจนว่าเป็นอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจริงหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายก็ออกมาเป็นวิกฤตสีแดงก็โล่งใจเพราะสามารถใช้สิทธิได้ แต่ที่กังวลคือยังคงต้องดูแลสามีในระยะยาว อย่างไรก็ตาม อยากให้ สพฉ. ทำข้อมูลสื่อสารกับสังคมให้ชัดเจนว่า ลักษณะอาการอย่างไร เข้าช่องทางอย่างไรให้ชัดเจน จึงจะใช้สิทธิได้ ซึ่งเคสของสามีถือว่าโชคดีที่สังคมให้ความสนใจช่วยเหลือ เพราะเป็นบุคคลของสังคม แต่เคสอื่นๆ จะมั่นใจได้อย่างไรเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ส่วนขณะนี้ได้ย้ายตัวผู้ป่วยกลับมารักษาต่อที่ รพ.นพรัตนราชธานี ซึ่งเป็น รพ. ตามสิทธิบัตรทองเรียบร้อยแล้ว
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้มีโครงการยูเซปขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 แต่วัตถุประสงค์หลักไม่ได้ต้องการให้มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าจำนวนมากๆ แต่ต้องการเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยวิกฤตดีที่สุด แต่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที จึงกำหนดให้หากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินต้องได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤต ภายใน 72 ชั่วโมงในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม ส่วนประเด็นเรื่อง รพ.สินแพทย์ นั้น ได้กำชับทาง สพฉ. และ สบส. เข้าไปตรวจสอบ โดยในช่วงแรกอาจมีปัญหา แต่ไม่กระทบผู้ป่วยแน่นอน เพราะหากเข้าเกณฑ์อย่างไรเสียก็ต้องรักษาตามกฎหมายกำหนด ซึ่งระบบยังใหม่อยู่ก็ต้องค่อยๆ ปรับให้เข้าที่ แต่ในเรื่องคำนิยามฉุกเฉินวิกฤต จะเป็นหน้าที่ของ สพฉ. ในการให้ความชัดเจน หากญาติไม่เข้าใจ หรือไม่เชื่อมั่นให้โทร.มายังสายด่วน 1669 หรือติดต่อมายัง ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ศคส.สพฉ.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาสัมพันธ์ของ สพฉ. ได้ประกาศว่า สำหรับการติดต่อศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ โทร. 028721669 หากติดต่อไม่ได้ หรือเกิดเหตุขัดข้อง สพฉ. ได้จัดหาเลขโทรศัพท์ชุดใหม่สำรอง 7 หมายเลข ดังนี้ 02 591 8905, 02 591 9047, 02 591 9769, 02 591 8914, 02 591 8936 , 02 591 9140 และ 02 591 8982