xs
xsm
sm
md
lg

แฉ 4 อาหารเสริมอ้างลดอ้วน “Idol Slim” สุดอันตราย ไม่ขึ้นทะเบียน อย่าซื้อ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. แฉ 4 ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “Idol Slim” ไม่ขึ้นทะเบียน ชี้เป็นอาหารปลอม โฆษณาโอ้อวดเกินจริง อ้างลดอ้วน คาดผสมยาลดอ้วน “ไซบูทรามีน”

วันนี้ (10 เม.ย.) นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ว่า ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ “Idol Slim Apple” มารับประทาน พบอาการไม่พึงประสงค์ อาทิ ปากแห้ง คอแห้ง ลิ้นชา ใจสั่น นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ เป็นต้น อย. จึงดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งฉลากระบุเลขสารบบอาหารคือ 10-3-09980-1-0765 นำเข้าและจำหน่ายโดย บริษัท PK Nature products Co.,Ltd (Thailand) ถ.รามคำแหง บางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เลขสารบบอาหารดังกล่าวเป็นเลขสารบบอาหารปลอม ส่วนบริษัทนำเข้าและจำหน่ายดังกล่าวก็ไม่พบข้อมูลจดทะเบียนของบริษัท ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของบริษัทดังกล่าว ซึ่งมี 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Idol Slim Apple, Idol Slim Coffee, Idol Slim Plus หรือ Idol Berry Plus ก็ตรวจไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียนอาหาร

นพ.พูนลาภ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กต่างๆ แสดงสรรพคุณในการลดน้ำหนัก เช่น “เครื่องดื่มผลไม้เพื่อลดน้ำหนัก Idol slim berry สูตรระเบิดไขมัน สูตรใหม่เพิ่มประสิทธิภาพ 3 เท่า กล่องเดียวเห็นผล ลดหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา แขนเล็กขาเรียว หน้าท้องแบนราบ....” เป็นต้น ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต หลอกลวงโอ้อวดเกินจริง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ในชื่อการค้า “Idol Slim Apple , Idol Slim Coffee , Idol Slim Plus หรือ Idol Berry Plus” นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัทดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร และมีการใช้เลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นจึงเข้าข่ายอาหารปลอม

“อย. ขอเตือนสาวอยากผอม อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอ้างลดความอ้วนมารับประทาน โดยเฉพาะทางร้านค้าออนไลน์ หาบเร่ แผงลอย ทางสื่อต่าง ๆ อาทิ โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ เพราะเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างลดอ้วน อย. มักตรวจพบว่ามีส่วนผสมของยาไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ตาพร่ามัว ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และหากได้รับยาในปริมาณมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถรักษาหรือป้องกันโรคหรือมีวัตถุประสงค์พิเศษอื่น นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายโดยคาดไม่ถึง” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น