สธ. คาด สัปดาห์หน้าได้ทางออกนำงบเร่งด่วน 5 พันล้านบาท ช่วย รพ. ขาดทุน เรื่องใดก่อน เผยมีข้อเสนอทั้งจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พีก่อน เป็นงบดูแลผู้ป่วยใน และแก้ปัญหาหนี้สิน รพ.
วันนี้ (9 เม.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางปี 5 พันล้านบาท ให้ สธ. เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น รพ. ขาดสภาพคล่อง ว่า รายละเอียดการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ขณะนี้ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. เป็นผู้ไปดำเนินการ แต่ทั้งหมดต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะจัดสรรอย่างไร เนื่องจากมีข้อเสนอเข้ามาในเรื่องการบรรเทาปัญหาระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. นำไปช่วยกรณีค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงงบค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) ก่อนดีหรือไม่ เนื่องจากเดิมงบประมาณค่าตอบแทนของ สธ. เคยได้รับประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ 2,000 ล้านบาท ทำให้ไม่เพียงพอ เป็นต้น 2. นำไปช่วยในกลุ่มผู้ป่วยใน เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาไม่คุ้มทุน เนื่องจากข้อกำหนดในการจ่ายเงินส่วนนี้ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ค่าเฉลี่ยกลุ่มโรคน้อย และ 3. นำไปช่วย รพ. ที่มีปัญหาหนี้สิน ซึ่งทั้งหมดต้องรอให้มีการประชุมหารือกันภายในสัปดาห์หน้าก่อน อย่างไรก็ตาม รมว.สาธารณสุข กำชับให้ดำเนินการอย่างถี่ถ้วนและเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะเร่งด่วน
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าควรนำไปช่วยเหลือเรื่องการค้างจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พีก่อน ซึ่งขณะนี้ รพศ. / รพท.หลายแห่งค้างจ่ายบุคลากรสาธารณสุขอยู่ประมาณ 2,000 - 3,000 ล้านบาท ทั่วประเทศ สำหรับระยะยาวคงต้องไปแก้ที่ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เนื่องจากยังมีเรื่องการจัดสรรเงินไปยัง รพ. ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เพียงพอจริงๆ ตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องรายละเอียด นอกจากนี้ อยากให้มีการแก้กฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อให้ รพ. สามารถหารายได้เข้า รพ. เองได้ด้วย
ด้าน นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) กล่าวว่า งบช่วยเหลือระยะสั้น หากนำไปช่วย รพ. ที่ค้างจ่ายพีฟอร์พีก็เป็นเรื่องดี เพียงแต่บาง รพ. ก็มีการจ่ายไปแล้ว จนทำให้ขาดสภาพคล่อง และรอการช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น หากนำเงินก้อนนี้ลงไปช่วยเฉพาะ รพ. ที่ค้างจ่ายพีฟอร์พี ก็จะทำให้ รพ. ที่จ่ายไปแล้วนั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนหรือไม่ จึงมองว่า ควรนำเงิน 5,000 ล้านบาท ไปช่วยทั้งระบบก่อนดีกว่า เพราะหากระบบเดินได้ แต่ละแห่งก็จะสามารถบริหารจัดการบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ระยะหนึ่ง โโยส่วนตัวมองว่าควรนำเงินไปไว้ในกลุ่มผู้ป่วยใน เนื่องจากกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายเยอะ และยิ่งล่าสุด สปสช. นำการดูแลรักษาทารกแรกเกิด ซึ่งเดิมอยู่ในกองทุนเฉพาะโรคไปอยู่ในผู้ป่วยใน โดยไม่ได้เอาเงินตามลงไป ซึ่งคิดเป็น 2 - 3 พันล้านบาท ต่อปี ตรงนี้จะเป็นปัญหามาก หากไม่มีเงินมาในกลุ่มผู้ป่วยใน จะส่งผลกระทบต่อ รพศ. รพท. อย่างหนัก ซึ่งหากนำเงินไปช่วยในกลุ่มนี้จะช่วยได้ทั้งระบบ เพราะ รพ. จะเดินต่อไปได้