xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งประสาน ตร.สอบเหตุ อสม.ถูกผู้ป่วยคลุ้มคลั่งทำร้ายเสียชีวิต พร้อมดูแลเยียวยาครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ส่งทีมดูแลครอบครัว อสม. เขวาตะคลอง จ.ร้อยเอ็ด ถูกผู้ป่วยคลุ้มคลั่งทำร้ายจนบาดเจ็บ 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย พร้อมประสานตำรวจเร่งตรวจสอบ กรมสุขภาพจิตเผยไม่พบประวัติผู้ป่วยเข้ารักษา รพ.จิตเวช เร่งส่งทีมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต

จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก “หมออนามัยขี้เม้าส์” แชร์เรื่องราวคนไข้จิตเวชและใช้สารเสพติด เดินเข้ามายิงและฟันอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 2 ราย ระหว่างการออกเก็บข้อมูลนวัตกรรมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เขวาตะคลอง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ที่บ้านโพนตูม ต.ทุ่งทอง เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา

วันนี้ (9 เม.ย.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ร้อยเอ็ดว่า มี อสม.เขวาตะคลอง ถูกชายคลุ้มคลั่งใช้อาวุธปืนและมีดไล่ฟันทำร้ายเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย เหตุเกิดระหว่างการประชุม สสส. ถอดบทเรียนต่อยอดนวัตกรรมเตียงฟองน้ำ ที่ รพ.สต. เขวาตะคลอง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เบื้องต้นได้สั่งการให้ นพ.สสจ.ร้อยเอ็ด ติดตามให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ พร้อมมอบให้กรมสนับสนุนและบริการสุขภาพ (สบส.) มอบเงินเยียวยาผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตตามระเบียบการดูแล อสม.

“ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บกับเหตการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ สธ. ได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น และส่งทีมสุขภาพจิตดูแลจิตใจ พร้อมดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ รวมทั้งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยมอบให้ นพ.สสจ. พร้อมด้วยหัวหน้างานสุขภาพภาคประชาชนประจำจังหวัดร้อยเอ็ดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งสืบหาข้อเท็จจริงและรายงานให้ผู้บริหาร สธ.ทราบต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดี สบส. กล่าวว่า เหตุการณ์ อสม. ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตและบาดเจ็บ นับเป็นความสูญเสียในวงการสาธารณสุข สบส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ สบส. เขต 7 จ.ขอนแก่น เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือ อสม. ทั้งผู้ที่เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ซึ่งในส่วนของ นางทองมาก บุญศรี ผู้เสียชีวิต นั้น มูลนิธิ อสม.ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 10,000 บาท และจะนำเข้าที่ประชุมพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ สบส. เขต 7 ให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจของญาติผู้เสียชีวิต และดูแลผู้บาดเจ็บทั้ง 2 ราย จนกว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในส่วนของความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สสจ. ร้อยเอ็ด มูลนิธิสาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด ชมรม อสม. จ.ร้อยเอ็ด และ ชมรม อสม. อ.เกษตรพิสัย ได้มอบเงินช่วยเหลือค่าประกอบพิธีศพแก่ญาติผู้เสียชีวิตเบื้องต้น จำนวน 30,000 บาท และให้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บสาหัส คือ นางน้อย จันทร์เสน จำนวน 10,000 บาท

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นใน จ.ร้อยเอ็ด ไม่พบประวัติผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งเบื้องต้นได้มอบหมาย ทีม MCATT รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ลงพื้นที่ร่วมกับ ทีมโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และ สสจ.ร้อยเอ็ด เยี่ยมเยียนและเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมทั้ง อสม. ผู้เห็นเหตุการณ์ พร้อมวางแผนเยียวยาในระยะกลางและระยะยาวร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมตนเองได้ไม่ดี ซึ่งต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ได้เร็วเท่าไรยิ่งดี และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนและสังคมได้ตามปกติ หัวใจสำคัญในการดูแลและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช จึงอยู่ที่การดูแลไม่ให้ขาดยาเป็นอันขาด ตลอดจน ครอบครัว ชุมชนและสังคมต้องเข้าใจและยอมรับ ว่า การเจ็บป่วยทางจิต ไม่ต่างจากการป่วยทางกาย ที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเช่นกัน จึงต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ตลอดจน ลดอคติ ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง ส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงการรักษา ให้กำลังใจและให้โอกาสใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เพราะหากเกิดสภาพแวดล้อมที่แปลกแยก หรือ กดดัน กีดกัน รังเกียจ จะยิ่งเพิ่มปัญหาต่อการรักษามากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกดดัน ปลีกตัว อาการกำเริบ หรืออาละวาดขึ้นมาได้ จึงควรให้ผู้ป่วยจิตเวชทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว เกิดความเพลิดเพลิน ที่สำคัญ คือ อย่าให้ผู้ป่วยใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะทำให้อาการทางจิตกำเริบรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก่อเหตุรุนแรงขึ้นได้

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สัญญาณเตือนอาการทางจิตกำเริบ คือ นอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าว หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือโทรปรึกษาที่สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง และ หากพบเห็นผู้ที่มีความผิดปกติหรือสงสัยว่าอาจเจ็บป่วยทางจิต ข้อสังเกตเบื้องต้น คือ ผู้ป่วย จะมีความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ มีลักษณะท่าทาง สีหน้า แววตา ที่แตกต่างจากคนทั่วไป หากพบ ขอให้หยุดนิ่ง เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งเร้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการหรือปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรง ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 สามารถโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สายด่วน 1669) เพื่อนำตัวเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสังคมจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยจิตเวช ขณะเดียวกัน เป็นการคุ้มครองผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง ตลอดจนขอวอนสังคม ไม่ส่งต่อ หรือเผยแพร่ภาพหรือข้อมูลใดๆ ของผู้ป่วยไม่ว่าจะด้วยช่องทางหรือวิธีใดก็ตาม เพราะยิ่งเป็นการซ้ำเติม สร้างความอับอาย ตอกย้ำตราบาปให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น