xs
xsm
sm
md
lg

พม.รณรงค์ “สุขสงกรานต์” ปลอดเหล้า-หยุดคุกคามทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พม. จับมือ สสส. และภาคีเครือข่าย เดินหน้ารณรงค์ “สุขสงกรานต์” งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ กระตุ้นประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบ เคารพสิทธิส่วนตัว ให้เกียรติ ไม่ฉวยโอกาส ไม่คุกคามทางเพศ ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายไมตรี อินทุสุต ปลัด พม. แถลงข่าวรณรงค์ “สุขสงกรานต์ : งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ” ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ว่า เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นเทศกาลที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในครอบครัว ชุมชน และสังคม แต่ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มีการเปลี่ยนแปลงไป ในบางพื้นที่กลายเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน การดื่มสุรา การไม่เคารพให้เกียรติ ล่วงเกินสตรี ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การทะเลาะวิวาท การคุกคามทางเพศ อุบัติเหตุทางถนน ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และมักพบการลวนลามหรือคุกคามทางเพศจากผลการสำรวจ เมื่อปี 2559 พบว่า สตรีร้อยละ 51.9 เคยถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศในระหว่างการเล่นน้ำสงกรานต์

นายไมตรี กล่าวว่า หลายภาคส่วนจึงมีความตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว พม.โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จึงร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ สสส. จัดทำโครงการรณรงค์เพื่อยุติการคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ การสร้างกระแสให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบเคารพสิทธิส่วนตัวให้เกียรติ ไม่ฉวยโอกาส และปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้โครงการรณรงค์ “สุขสงกรานต์ : งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ”

“โครงการดังกล่าว กำหนดให้มีกิจกรรมการรณรงค์ ดังนี้ 1. ในระดับประเทศ พม.ประสานทุกจังหวัด ให้มอบหมาย พมจ. ดำเนินการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส ยุติการคุกคามทางเพศ ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังรับแจ้งเหตุ ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าของทุกจังหวัด เพื่อประสานฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง รวมทั้งมอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุด้วย 2.ใน กทม.จะจัดกิจกรรมรณรงค์ ถือป้ายประชาสัมพันธ์ แจกสติกเกอร์ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ให้สังคมเกิดความตระหนัก ในวันที่ 11 เม.ย. 2560 เวลา 11.00 น. บริเวณถนนข้าวสาร โดยมีจุดเริ่มที่หน้า สน.ชนะสงคราม ซึ่งหวังว่าจะช่วยทำให้การเล่นน้ำสงกรานต์มีความปลอดภัยต่อผู้หญิง เด็ก และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และสื่อถึงประเพณีวัฒนธรรมของสังคมไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศต่อไป” นายไมตรี กล่าว

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่าย ได้รณรงค์กระตุ้นเตือนความปลอดภัยช่วงสงกรานต์อย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่โซนนิงเล่นน้ำปลอดภัยมากกว่า 10 ปี สอดรับนโยบายนายกรัฐมนตรีที่มุ่งไปสู่สงกรานต์ที่สร้างสรรค์ รักษาขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเปลี่ยนค่านิยม เช่น เล่นน้ำที่ไม่สร้างสรรค์ เกินเลย ฉวยโอกาส อนาจาร คุกคามทางเพศ ที่สำคัญคือมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอุบัติเหตุ สะท้อนจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,447ครั้ง เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บ 3,656 ราย สาเหตุอันดับหนึ่ง จากการเมาสุรา ร้อยละ 34.09 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือจักรยานยนต์ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นกลุ่มวัยรุ่น(อายุ 15-24 ปี) สูงถึงร้อยละ 29.67 โดยวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงมักอยู่ในช่วงวันเล่นน้ำสงกรานต์ คือ วันที่ 13-15 เมษายน ยังไม่นับรวมปัญหาทะเลาะวิวาท ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น

“ขอให้คนไทยมาร่วมทำให้สงกรานต์เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัย ถูกต้องดีงาม ไม่ขัดต่อศีลธรรม และ ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่นไม่ดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง ดื่มไม่ขับ ไม่ขายสุราให้เด็กอายุต่ำกว่า20 ปีหรือคนเมาขาดสติ ไม่ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น รวมไปถึง การปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นสูงจนประเมินค่าไม่ได้” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้สำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2559 จากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่า เกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 85.9 เห็นว่า ไม่ควรฉวยโอกาสลวนลามในช่วงสงกรานต์และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน รวมทั้งยังพบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 51.9 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศ เมื่อถามถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเจอบ่อยที่สุดคือ ถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการทะเลาะวิวาท เป็นต้น เมื่อพิจารณาในกลุ่มวัยรุ่นชายกับปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศ ในปี 2556 พบข้อมูลที่น่าตกใจว่าร้อยละ 43 มองว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเทศกาลแห่งโอกาสใครๆ ก็ทำกัน โดยไม่ต้องสนใจกฎหมาย

“ปัญหาการคุกคามทางเพศสงกรานต์เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เครือข่ายได้รณรงค์มา 5 ปีแล้ว แต่ 2 ปีหลัง พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีบทบาทออกมาพูดถึงปัญหาการคุกคามทางเพศกันมากขึ้น โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกมาพูดว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มาในปีนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีบทบาทสำคัญ และทางกรุงเทพมหานคร ก็ออกมาร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม มีทั้งการรณรงค์ การเฝ้าระวัง และมีศูนย์รับแจ้งเหตุเพื่อคุ้มครองผู้ถูกคุกคามทางเพศ ดังนั้น การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมออกมารณรงค์และแก้ไขปัญหาร่วมกันจะนำไปสู่การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มาร่วมงานสงกรานต์ ทำให้การคุกคามทางเพศลดน้อยลง รวมทั้งปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย การทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคประชาสังคมถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกให้กับผู้มาเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุข ไม่ใช่เทศกาลแห่งการฉวยโอกาสของผู้ที่จะมาคุกคามทางเพศ” นายจะเด็จ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น