xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” อนุมัติงบกลาง 5 พัน ล.แก้ รพ.ขาดทุน สธ.รับมีปัญหาอีกกว่า 80 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.สธ. เผย “บิ๊กตู่” อนุมัติงบกลางปี จำนวน 5 พันล้านบาท ช่วยเหลือเร่งด่วน รพ. ขาดทุน ปลัด สธ. เผย แก้ปัญหาระยะยาวต้องบริหารจัดการงบมีประสิทธิภาพ เติมเงินเข้าระบบ พร้อมร่วม สปสช. แก้ไขรับ รพ. ขาดทุน ยังมีอีกว่า 80 แห่ง แจง ระบุ 5 แห่งเป็นการชี้แจงจากตัวเลข 18 แห่งเท่านั้น

จากกรณีสังคมออนไลน์เปิดเผยสถานการณ์โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีการขาดทุนมากถึง 18 แห่ง ซึ่ง สธ. ยืนยันว่า หากดูจากทุนสำรองหมุนเวียนจะขาดสภาพคล่องระดับ 3 - 4 เพียง 5 แห่ง ส่งผลให้นักวิชาการด้านวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง ออกมาย้ำว่า รพ. ไม่ได้ขาดสภาพคล่องเพียงแค่ 5 แห่ง แต่มีมากกว่านี้ โดยระบุว่า รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ก็คือ ขาดทุน และขาดทุนต่อเนื่องก็จะทำให้ขาดสภาพคล่อง สาเหตุหลักมาจากการจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปเพราะทำให้รายรับโรงพยาบาลน้อยกว่ารายจ่าย

วันนี้ (7 เม.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 เม.ย. ตนได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรณีเรื่องการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ซึ่งท่านนายกฯ ได้มีความห่วงใยในเรื่องนี้ และเข้าใจปัญหาของ สธ. ทั้งเรื่องโรงพยาบาลการขาดสภาพคล่อง งบบำรุงโรงพยาบาลที่เริ่มร่อยหรอ ภาระจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบที่อัตราเงินงบประมาณรายหัวต่อประชากรที่ไม่สามารถเพิ่มได้เต็มอัตรา จึงได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาเติมบรรเทาการขาดสภาพคล่อง ถือเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนแบบเฉพาะหน้า และยังต้องติดตามผลในระยะยาวจากวงเงินช่วยเหลือนี้ต่อไปถึง ไตรมาส 3 และ 4

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวยังต้องมีการปฏิรูประบบสุขภาพทั้งระบบ การปรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเงิน การคลัง และทำอย่างไรให้ รพ. สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแท้จริง แต่ขณะนี้ยังไม่ขอลงรายละเอียด เพราะยังต้องมีการหารือเพิ่มกับหน่วยงานอื่น ทั้งโรงเรียนแพทย์ ฯลฯ ส่วนการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องในอดีตที่ติดตัวแดงวิกฤตหนักระดับ 7 หลายแห่งนั้น ก็สามารถบรรเทาจนเหลือขาดสภาพคล่องระดับ 3 - 4 คือ สามารถแก้ไขได้แค่ 5 แห่ง โดยอาศัย 2 แนวทาง คือ 1. การปรับระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และ 2. การเติมเงินไปในระบบ

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา รพ. สังกัด สธ. ประสบปัญหาทางการเงินจริง โดยรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่ที่ผ่านมา ได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง สธ. มีการประเมินทุกไตรมาสในการให้ รพ. แต่ละแห่งทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการ ทั้งกรอบกำลังคน และค่าใช้จ่ายทางการเงิน เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น ล่าสุด รมว.สาธารณสุข ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำรายละเอียดทางการเงิน ว่า จะมียอดคงเหลือจำนวนเท่าไร หลังจากจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว เนื่องจากยังมีเงินก้อนอื่นๆ เช่น เงินคิดตามกลุ่มโรค (ดีอาร์จี) เพื่อนำมาประเมินค่าใช้จ่ายร่วมกัน คาดว่า ตัวเลขตรงนี้จะนำเสนอเข้ามาได้ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน ส่วนกรณีเรื่องเด็กแรกคลอด ที่ รพ. สังกัดได้ให้บริการ และเสนอของบไปยัง สปสช. แต่ยังไม่ได้เงินอีก 300 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ สปสช. กำลังจะเคลียร์เงินก้อนนี้ส่งตรงมายัง รพ.

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ. ให้ตัวเลข รพ. ขาดสภาพคล่องไม่ครบถ้วน เพราะไม่ได้มีแค่ 5 แห่ง แต่มีกว่า 100 แห่ง นพ.โสภณ กล่าวว่า ตัวเลข รพ. 5 แห่งดังกล่าวมาจากก่อนหน้านี้ที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียว่ามี 18 แห่ง ซึ่งใน 18 แห่งนั้น หากคำนวณทั้งหมดแล้ว โดยไม่ใช่แค่หลังหักหนี้ จะพบว่า เหลือทุนสำรองสุทธิที่ติดลบ 5 แห่งจาก 18 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น รพศ./รพท. อย่างไรก็ตาม แต่หากรวมทั้งหมดที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ยอมรับว่า ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะรวมโรงพยาบาลชุมชนด้วย ซึ่งมีประมาณ 80 แห่ง แต่การขาดสภาพคล่องไม่ใช่ระดับวิกฤตสีแดงหรือระดับ 7 โดยทาง สธ. ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการออกมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้ง สปสช. ก็ต้องหันมาช่วยเหลือกัน ที่สำคัญต้องของบประมาณจากภาครัฐเพิ่ม เพราะงบประมาณด้านสุขภาพที่ได้รับไม่เพียงพอจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น