xs
xsm
sm
md
lg

ฝักบัว ก๊อกน้ำ สปา แอร์ แหล่งเสี่ยงแพร่เชื้อก่อโรคปอดอักเสบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ เผย ฝักบัว สปา ก๊อกน้ำ แอร์ แหล่งแพร่เชื้อ “ลีจีโอเนลลา” ก่อโรคปอดอักเสบ สำรวจโรงแรมในภูเก็ต พังงา กระบี่ พบเชื้อแต่ไม่อยู่ระดับก่อให้เกิดโรค แนะทำความสะอาด บำรุงรักษา ป้องกันก่อโรคในนักท่องเที่ยว

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักจะมีรายงานข่าวนักท่องเที่ยวติดเชื้อ “ลีจิโอเนลลา” ในประเทศไทย โดยเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดอักเสบ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ตจึงได้ทำการศึกษาเชื้อลีจิโอเนลลามาอย่างต่อเนื่อง โดยสำรวจพบเชื้อนี้จากหอผึ่งเย็น (Cooling Tower) ในโรงแรม โรงพยาบาลหรือที่พักต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการสำรวจพบเชื้อตามอุปกรณ์ในห้องน้ำด้วย เช่น ฝักบัว ก๊อกน้ำร้อน น้ำเย็น รวมถึงเครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือนทั่วไป สิ่งเหล่านี้นับเป็นเครื่องใช้ใกล้ตัวที่เป็นจุดแพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนได้ง่าย

“ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ต ได้ทำการสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจาย โดยเก็บตัวอย่างน้ำที่นำมาจากแหล่งต่างๆ หอผึ่งเย็น ถังเก็บน้ำ ฝักบัว ก๊อกน้ำ สปา สระว่ายน้ำ และถาดแอร์ จากโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ มาทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีเพาะเชื้อ ตั้งแต่ ม.ค.- ธ.ค. 2559 จำนวน 1,508 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่า ตรวจพบเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella spp.) จำนวน 116 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 7.69 และตัวอย่างน้ำที่พบเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ น้ำจากฝักบัว ร้อยละ 13.2 สปา ร้อยละ 12.9 และก๊อกน้ำ ร้อยละ 10.4 แต่ปริมาณที่พบยังไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดโรคในคน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า เชื้อลีจิโอเนลลา เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ 2 ลักษณะ หากติดเชื้อโดยมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วยอาการก็จะรุนแรงและเกิดอัตราการป่วยตายสูง เรียกว่า โรคลีเจียนแนร์ ส่วนอาการแบบไม่รุนแรงเรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก อาการจะคล้ายๆ ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โรคนี้จะแสดงอาการรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคปอดเรื้อรังหรือในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจะติดเชื้อนี้ได้ง่ายแล้วโรคก็จะลุกลามจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

“แม้ตัวอย่างน้ำจุดที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด ได้แก่ น้ำจากฝักบัว สปา และ ก๊อกน้ำ ปริมาณการปนเปื้อนยังไม่สูงพอที่จะเกิดอันตรายแก่มนุษย์ได้ แต่การเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้อชนิดนี้ด้วยการดูแลและบำรุงรักษาระบบน้ำ รวมถึงการตรวจสอบเฝ้าระวังและติดตามผลของการบำรุงรักษาระบบน้ำให้ถูกต้องก็ยังเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว ดังนั้น จึงควรหาเวลาทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เสี่ยง เช่น ล้างหน้ากากแอร์หรือแกะฝักบัวมาเช็ดล้างทำความสะอาดตะไคร่ที่มาเกาะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น