xs
xsm
sm
md
lg

ขีดเส้น 1 ปี เปลี่ยนรูปแบบ “อาหารเด็กเล็ก” ห้ามเหมือน “อาหารทารก” หลัง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ บังคับใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยเผยร่าง พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ ให้เวลาผู้ผลิต “อาหารเด็กเล็ก” 1 ปี หลังมีผลบังคับใช้ ต้องเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจาก “อาหารทารก” ชี้ อาหารเด็กเล็กยังโฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ขู่ โฆษณา - การตลาดกระทบ “นมแม่” ออกประกาศควบคุมได้

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ ว่า หลังจากนี้ ก็ต้องรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งการออกกฎหมายในครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในเรื่องของการโฆษณา คือ ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและอาหารเสริมสำหรับทารกไม่สามารถโฆษณาได้ แต่ที่เพิ่มเติมคือห้ามเรื่องของการส่งเสริมการตลาดอาหารทารก เช่น นมสูตร 1 สูตร 2 ที่ยังมักพบการส่งเสริมการตลาดอยู่ เช่น ส่งผลิตภัณฑ์หรือส่วนลดแบบเข้าถึงตัวมารดาเลยนั้นจะไม่สามารถทำได้ เป็นต้น ส่วนอาหารสำหรับเด็กเล็ก พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้ห้ามโฆษณา แต่ต้องทำผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากอาหารทารกเพื่อให้แยกได้ชัดเจน ซึ่งในกฎหมายจะให้เวลาผู้ผลิตในการเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากอาหารทารกภายใน 1 ปี หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้

นพ.ธงชัย กล่าวว่า แม้อาหารสำหรับเด็กเล็กจะโฆษณาได้ แต่ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ คือ กฎหมายลูกของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ที่ผู้แสดงจะต้องมีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป แต่หากตรวจสอบพบว่าบริษัทผู้ผลิตมีลูกเล่นอะไรที่จะสื่ออาหารสำหรับเด็กเล็กไปเป็นอาหารสำหรับทารก แล้วกระทบถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็สามารถออกประกาศลูกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมอาหารเด็กเล็กชนิดนั้นห้ามทำการโฆษณาและการตลาดได้ในภายหลัง ซึ่งการจะออกประกาศลูกเหล่านี้จะออกก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

“เมื่อดูตามกฎหมายแล้ว เรียกได้ว่า กฎหมายฉบับนี้จะควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกอย่างเดียว ส่วนอาหารสำหรับเด็กเล็กต้องรอประกาศเพื่อควบคุม ซึ่งจะควบคุมเมื่อไรก็เมื่อบริษัทมีการมาโฆษณา หรือส่งเสริมการตลาดที่ส่งผลถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะประกาศควบคุม ซึ่งตรงนี้บางส่วนอาจมองว่าอ่อนไป ซึ่งการเสนอกฎหมายก่อนหน้านั้นก็เสนอให้ควบคุมทั้งหมด แต่ก็มีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับ สนช. นี้ ก็ถือว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง เพราะการควบคุมเรื่องโฆษณาก็ไม่ได้ต่างไปจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น