เครือข่ายนมแม่ฯ รับได้ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ฉบับผ่าน สนช. ห้ามโฆษณาเฉพาะอาหารทารกไม่รวมเด็กเล็ก ถือว่าสำเร็จ 70 - 80% มุ่งปกป้องทารกให้ได้นมแม่ ลั่นจับตาการทำตามกฎหมายอย่างเข้มข้น ด้านยูนิเซฟแนะเดินหน้าส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน เพิ่มวันลาคลอด เพื่อหนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
จากกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ โดยสาระสำคัญ ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาอาหารสำหรับทารก อายุ 0 - 12 เดือน ส่วนอาหารเด็กเล็ก อายุ 1 - 3 ปี โฆษณาได้ แต่ต้องไม่เป็นการโฆษณาข้ามผลิตภัณฑ์ หรือสื่อถึงอาหารทารก และห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการขายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก
พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ดีใจที่ พ.ร.บ. นี้ ออกมาเป็นกฎหมาย เพราะเป็นการปกป้องให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่ เนื่องจากในกฎหมายจะห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการขายอาหารสำหรับทารก และเด็กเล็ก ก็จะทำให้ไม่มีการแจกนมผงฟรีให้กับแม่ตั้งครรภ์ แม่เพิ่งคลอด หรือแม่ที่มีลูกเล็กอีก ซึ่งเดิมเมื่อแม่ได้รับแจกนมผงก็จะให้ลูกดื่ม เด็กก็จะไม่ดูดนมแม่ ส่งผลให้นมแม่ไม่มา แม่ก็จะไม่ได้ให้นมแม่กับลูก โดยกฎหมายยังควบคุมการโฆษณาด้วย โดยห้ามไม่ให้มีการโฆษณาอาหารสำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน ส่วนอาหารเด็กโตเกิน 1 ปี ห้ามโฆษณาแบบข้ามผลิตภัณฑ์ คือ ต้องไม่มีการทำฉลากให้เหมือนกับนมสำหรับทารก เพราะจะทำให้พ่อแม่แยกยาก ฉลากอาหารสำหรับเด็กเล็ก 1 - 3 ปี ต้องมีความแตกต่างให้แยกได้ชัดว่าเป็นสำหรับเด็กอายุช่วงนี้ และไม่สื่อถึงทารก โดยกฎหมายที่ออกมาภาคประชาชาพอใจในระดับหนึ่ง แม้ไม่ได้ทั้งหมดตามที่ยกร่างกฎหมายไว้เดิม แต่ก็พอใจ ถือเป็นการเจอกันครึ่งทาง จากนี้ภาคประชาชนก็จะเฝ้าดูการโฆษณาและส่งเสริมการขายของบริษัทนมผงตลอดเวลา ว่า มีการทำผิดหรือไม่ หากมีก็จะรายงานทันที
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษาศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รับได้กับ พ.ร.บ. ฉบับที่ผ่าน สนช. แม้ไม่ได้ตามที่คาดหวัง 100% แต่ได้มา 70 - 80% โดยยังคงมีมาตราสำคัญๆ ที่ต้องการคุ้มครองทารกเหลืออยู่ ซึ่งจริงๆ อาจผ่าน สนช. ได้เร็วกว่านี้ แต่เนื่องจากมีประเด็นที่มีารเสนอให้แยกทารกและเด็กเล็ก และเครือข่ายนมแม่ไม่ต้องการให้มีการตัดส่วนของเด็กเล็กออก จึงต้องแยกส่วนเพื่อปกป้องทารกอย่างเต็มที่ให้ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้น ให้ได้รับนมแม่และเสริมอาหารตามวัย สำหรับอาหารเด็กเล็กก็มีการห้ามไม่ให้มีการโฆษณาข้ามผลิตภัณฑ์ที่จะสื่อถึงอาหารทารกเด็ดขาด จากนี้จะต้องมีการออกประกาศที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับประเภทของอาหารเด็กเล็กต่อไป รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะต้องเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายนี้กับผู้ประกอบการ
“หากทำได้ตามที่กฎหมายกำหนดจริงทั้งการห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารกเด็ดขาด และห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการขายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ก็จะเป็นการแฮปปี้ เพราะเป็นการปกป้องเด็กไม่ให้มีการมาแย่งนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติที่ดีที่สุด แม้นมผงพยายามเลียนแบบแค่ไหนก็ไม่เหมือน ถือเป็นสิทธิ์ที่ทารกจะได้รับนมแม่ ได้สิ่งที่ดีที่สุดของธรรมชาติ จากนี้เครือข่ายฯก็จะมีการสอดส่องการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มข้น” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ว่า ยูนิเซฟรู้สึกยินดีอย่างยิ่งต่อการผ่านร่าง พ.ร.บ. ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ บุคลากรทางสาธารณสุขและสังคมโดยรวมที่ได้ต่อสู้มายาวนานหลายสิบปี เพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยแม่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงและเติบโตอย่างเต็มศักยภาพจวบจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพราะวารสารทางการแพทย์นานาชาติ เดอะแลนเซ็ท ได้รวบรวมหลักฐานล่าสุดจากทั่วโลก และพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมสามารถป้องกันการเสียชีวิตของทารกมากกว่า 800,000 คนต่อปี และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาระดับเชาวน์ปัญญา หรือไอคิวโดยเฉลี่ย 3 จุด ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในแม่อีกด้วย
การผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการส่งเสริมตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการจัดการกับผลกระทบด้านลบจากการส่งเสริมการตลาดนมผงที่มีต่อพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฏหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และ เนปาล อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ เราต้องเร่งส่งเสริมให้แม่และชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เราต้องเร่งทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อให้แม่ที่ต้องไปทำงานได้มีห้องที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับการให้นมลูกหรือปั๊มนมและกักเก็บนมในที่ทำงานได้ โดยที่ไม่ต้องไปปั๊มนมในห้องน้ำ เราต้องทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มวันลาคลอดเพื่อให้แม่ได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้นในช่วงเดือนแรกๆ ของชีวิต และเราต้องทำงานร่วมกับบุคลากรทางสาธารณสุขเพื่อที่ว่า การให้นมผงแก่เด็กภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นอกเสียจากว่ามีเหตุผลทางการแพทย์ที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกเองได้