xs
xsm
sm
md
lg

“หน้าร้อน” ฤดูพีกคนไทยฆ่าตัวตายสูง เปิด 9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หน้าร้อน” เมย.- พ.ค. ฤดูพีกคนไทยฆ่าตัวตายสูง เหตุ ร้อน - เครียด - ซึมเศร้า ชี้ เทศกาลสงกรานต์ดื่มเฉลิมฉลอง ห่วงกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยจิตเวช ดื่มของมึนเมา เพิ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย สธ. เผย 9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า เดินหน้า 5 มาตรการแก้ปัญหา เน้นสร้างความเข้าใจ ลดอคติ ป้องกันฆ่าตัวตาย และกลับมาเป็นซ้ำ

วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเนื่องในวันอนามัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เม.ย. ของทุกปี ซึ่งปี 2560 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดหัวข้อรณรงค์ว่า “Depression, Let’s talk : ซึมเศร้า...เราคุยกันได้” ว่า โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ ทั้งนี้ WHO ได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคน หรือร้อยละ 4 เป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 20.4 โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มวัยรุ่น อายุ 15 - 19 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.5 ของประชากรไทย และยังพบว่าผู้หญิงเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่า

นพ.โสภณ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้านั้น เรื่องความเข้าใจของคนรอบข้าง ครอบครัวและสังคมเป็นสิ่งสำคัญ สธ. จึงรณรงค์ 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. ลดอคติ สร้างความตระหนัก สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง 2. ลดการเกิดโรคในผู้ที่เสี่ยงโดยค้นหาและป้องกัน 3. ลดระยะเวลาและความรุนแรงโรค 4. ป้องกันการฆ่าตัวตาย และ 5. ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ส่วนสัญญาณบอกเหตุของโรคซึมเศร้ามี 9 ข้อ ได้แก่ 1. ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว 2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง 3. ไม่มีสมาธิ 4. อ่อนเพลีย 5. เชื่องช้า 6. รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง 7. นอนมากขึ้น หรือน้อยลง 8. ตำหนิตัวเอง และ 9. พยายามฆ่าตัวตาย หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ 5 ข้อติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยว่า อาจเป็นโรคซึมเศร้า

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง และส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว คือ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ติดสุรา สารเสพติด กลุ่มผู้สูญเสียบุคคลที่รัก หรือของที่รัก

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่ได้สูงขึ้น แต่อยู่ในภาวะทรงตัว และมีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ที่เห็นช่วงนี้มีการฆ่าตัวตายเยอะ เพราะมีส่วนสัมพันธ์กับฤดูกาล โดยในต่างประเทศจะเป็นหน้าหนาว ส่วนประเทศไทยจะเป็นหน้าร้อน โดยช่วง เม.ย.- พ.ค. จะเยอะสุด เพราะทั้งร้อนทั้งเครียดจากหลายอย่าง ประกอบกับซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม การเสนอข่าวการฆ่าตัวตายก็มีส่วนทำให้เกิดการเลียนแบบการฆ่าตัวตายเหมือนกัน และยังพบว่าการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ช่วงเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองนั้นขอกลุ่มเสี่ยงรวมถึงผู้ป่วยจิตเวชงดดื่ม

ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง กล่าวว่า การที่ผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายนั้นสาเหตุยังไม่มีความแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเป็นเพราะฮอร์โมนเพศมีความแตกต่างกัน ระบบสารสื่อประสาทและอาการมีความแตกต่างกัน ประกอบกับผู้หญิงมีความเครียดทั้งการทำงาน และการดูแลลูก ดูแลครอบครัวมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น