สปส. เผย หลังเพิ่มสิทธิทำฟัน 900 บาท ไม่ต้องสำรองจ่าย จำนวนผู้ประกันตนใช้สิทธิทำฟันเพิ่มขึ้นจาก 9.2 หมื่นคน เป็น 1.5 แสนคนใน 1 เดือน ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทันตกรรมให้แก่ผู้ประกันตน กรณีอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 900 บาท โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ว่า ในปี 2560 มีสถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมทำความตกลงกับ สปส. กรณีสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจำนวน 553 แห่ง โดยผู้ประกันตนสามารถสังเกตป้ายสติกเกอร์ที่ระบุ “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตน กรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย” ซึ่ง สปส. จะประชาสัมพันธ์รายชื่อสถานพยาบาลทันตกรรมเพิ่มเติมเป็นระยะๆ ต่อไป
นพ.สุเดช กล่าวว่า การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว พบว่า จำนวนผู้ประกันตนที่มาใช้บริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมเพิ่มมากขึ้น โดย ม.ค. 2560 ใช้บริการจำนวน 92,289 ครั้ง เพิ่มขึ้นเป็น 155,624 ครั้ง ใน ก.พ. 2560 คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 69 สำหรับอัตราส่วนการใช้บริการ ณ สถานพยาบาลในความตกลงคิดเป็นร้อยละ 33 ในขณะที่มีการใช้บริการ ณ สถานพยาบาลอื่น ร้อยละ 67
“การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมให้กับผู้ประกันตนของ สปส. เป็นการดำเนินการสอดคล้องกับการพัฒนาระบบบริการจัดการตามโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาด้านทันตกรรม โดยที่ไม่ต้องสำรองจ่าย ตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและความพึงพอใจในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมของผู้ประกันตน และจากข้อมูลตัวเลขผู้ประกันตนที่มาใช้บริการกรณีทันตกรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่า จำนวนการใช้สิทธิของผู้ประกันตนมีปริมาณที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นระบบจ่ายตรงแล้ว พบว่า มีผู้ประกันตนที่ไม่เคยไปรับบริการกรณีทันตกรรมเลย เนื่องจากไม่มีเงินสำรองจ่าย สามารถเข้ารับการบริการกรณีทันตกรรมได้เพิ่มมากขึ้น” นพ.สุรเดช กล่าว
นพ.สุรเดช กล่าวว่า นอกจากนี้ สถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมที่ทำความตกลงกับ สปส. ในการให้บริการกรณีทันตกรรม มีความพึงพอใจต่อระบบตรวจสอบสิทธิผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งมีความสะดวก และรวดเร็วในการตรวจสอบทำให้การเบิกจ่ายเป็นไปด้วยรวดเร็วอันจะเป็นผลดีต่อผู้ประกันตนในการเข้ารับบริการต่อไป