xs
xsm
sm
md
lg

3 วันคนขอใช้สิทธิ “ยูเซป” 235 ราย พบไม่เข้าเกณฑ์ “ฉุกเฉินวิกฤต” รักษาฟรีเกินครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. เผย 3 วัน คนใช้สิทธิ “ยูเซป” ป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรี 72 ชั่วโมง 235 ราย เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตจริง 113 ราย ไม่เข้าเกณฑ์ 122 ราย โทร.ขอคำปรึกษา 300 กว่าราย ย้ำต้องเข้าเกณฑ์ 6 กลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจึงใช้สิทธิได้

วันนี้ (5 เม.ย.) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังประกาศใช้ “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ ยูเซป ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 เป็นต้นมา ว่า จากข้อมูลสถิติการใช้สิทธิตามนโยบายยูเซป ซึ่งขณะนี้เดินหน้ามาได้ 4 วันแล้ว โดยศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สพฉ. พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 - 3 เม.ย. ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาในระบบ 235 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ยูเซป 113 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากสิทธิกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 70 ราย สิทธิประกันสังคม 16 ราย สิทธิข้าราชการ 20 ราย และสิทธิจากกองทุนอื่นๆ 7 ราย ที่เหลือไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตจำนวน 122 ราย และมีประชาชนโทร.เข้ามาขอคำปรึกษาอีกกว่า 307 สาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ไม่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็จะเป็นเรื่องที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะ รพ.เอกชน ที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยหรือญาติ ว่า เมื่อไม่เข้าเกณฑ์หากจะรักษาต่อก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง หรือจะไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหาหรือการร้องเรียนใดๆ ทั้งกลุ่มที่ใช้สิทธิยูเซปและกลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากข้อมูลผู้ขอใช้สิทธิแต่ไม่เข้าเกณฑ์มีเกินครึ่ง สะท้อนว่าประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ขณะนี้ก็พยายามเร่งทำความเข้าใจให้กับประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนต่างๆ ในการใช้สิทธิ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถใช้สิทธิยูเซปได้ ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ประกาศกำหนด และรายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ สพฉ. กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยตนอยากให้ประชาชนยึดหลักของกลุ่ม 6 อาการนี้ไว้สำหรบการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

“สำหรับการทำงานของสายด่วน 1669 ในระบบปกติจะยังดำเนินต่อไป โดยประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถ โทร.เข้ามาขอใช้บริการได้ ซึ่งทางสายด่วนจะช่วยคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตาม 25 กลุ่มอาการเหมือนเดิม หรือหากพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตาม 6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ก็สามารถ โทร.สายด่วน 1669 เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมทันทีได้เช่นกัน หากประชาชนท่านใดยังมีความไม่เข้าใจในการดำเนินการตามนโนบายยูเซป สามารถ โทร.สอบถามได้ที่เบอร์ 02-872-1669 หรือ อีเมล ucepcenter@niems.go.th” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น