สธ. แจง รพ. ขาดทุน 5 แห่ง ไม่ใช่ 18 แห่ง ย้ำ สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ขาดทุนลดน้อยลง ไม่ได้เจ๊งถึงขั้นปิดให้บริการ ชี้ รพ. รัฐของไทยใช้งบมีประสิทธิภาพมากสุดแห่งหนึ่งในโลก มีงบจำกัดแต่ดูแลประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เผย ขยายบริการเพิ่มการรักษาช่วย รพ. มีรายได้เพิ่มขึ้น
จากกรณีแวดวงสาธารณสุขมีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ถึงสถานการณ์เงินบำรุงของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) จำนวน 18 แห่ง ติดลบขาดสภาพคล่อง จนมีการเรียกร้องให้ “ตูน บอดี้สแลม” ออกมาช่วยเหลือ
วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวกรณีโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ว่า ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีมานานแล้ว และได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด ด้วยการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้โรงพยาบาลสังกัด สธ.ไม่ได้ขาดทุนมากเหมือนกับที่มีการนำเสนอ ส่วนที่เห็นตัวเลขติดลบตัวแดงของ รพศ./รพท. นั้น เป็นบัญชีเงินบำรุงคงเหลือ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองลดลง เนื่องจากแบ่งไปให้โรงพยาบาลที่มีจำนวนประชากรน้อย และเกิดจากการลงทุนสร้างตึก ซื้ออุปกรณ์ ซื้อยาต่างๆ เพื่อบริการดูแลประชาชน แต่จะบอกว่าเป็นการขาดทุนคงไม่ได้ เพราะอย่างยาก็ถือว่าเป็นทุนในมือของโรงพยาบาล หรือการสร้างตึกใหม่ในอนาคตก็จะช่วยให้โรงพยาบาลมีรายได้กลับมา นอกจากนี้ การดำเนินงานก็ยังมีทุนหมุนเวียนอีก การจะดูว่าขาดทุนหรือไม่นั้นจึงต้องดูที่ทุนสำรองสุทธิ ไม่ใช่เงินบำรุงคงเหลือ
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สธ. มีการตรวจสอบข้อมูลในทุกๆ เดือน ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องทั้ง 18 แห่งนั้น เมื่อดูจากทุนสำรองสุทธิพบว่า โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องระดับปานกลางหรือระดับ 3 - 4 มีเพียง 5 แห่งเท่านั้น คือ รพ.พะเยา -59,598,270.18 บาท รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี -56,744,814.17 บาท รพ.ประจวบคีรีขันธ์ -39,535,105.97 บาท รพ.พิจิตร -27,820,366.25 บาท และ รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรลงคราม -3,696,876.44 บาท อย่าง รพ.พระนั่งเกล้า แม้จะติดลบกว่า 56 ล้านบาท แต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นในทุกๆ ปี
“แม้โรงพยาบาลจะขาดสภาพคล่อง แต่ยังคงให้บริการประชาชนเหมือนเดิม เพราะหากโรงพยาบาลเจ๊งคือปิดโรงพยาบาลจนไม่สามารถบริการประชาชนได้ ซึ่งไม่มีแห่งใดขาดทุนจนต้องปิดบริการ และคงไม่มีใครยอมปล่อยให้โรงพยาบาลล้ม ซึ่งต้องขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ตั้งใจทำงานแม้จะมีงบประมาณที่จำกัด แต่ก็ใช้งบให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการประชาชน ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการงบได้มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างญี่ปุ่นก็ใช้ประเทศไทยเป็นต้นแบบ เพียงแต่เมื่องบประมาณไม่พอจริงๆ ก็ต้องขอเพิ่ม” รมว.สธ. กล่าวและว่า ส่วนการช่วยเหลือโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องในไตรมาส 3 - 4 นั้น สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีแนวทางช่วยเหลือร่วมกัน โดยมีเงินฉุกเฉินที่กันไว้ลงไปช่วยเหลือ โดยจะประเมินจากไตรมาสที่ 2 แล้วพบว่ามีโรงพยาบาลใดที่ขาดสภาพคล่องบ้าง นอกจากนี้ จะมีการของบประมาณกลางปีเพื่อมาจ่ายในส่วนของค่าตอบแทนบุคลากรที่ถูกตัดไปด้วย เป็นต้น รวมไปถึงจะมีการรวบรวมระเบียบต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน เอาไปเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีความยั่งยืนขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคนในแวดวงสาธารณสุขออกมาเปิดเผยข้อมูล รวมถึงเรียกร้องให้ “ตูน บอดี้สแลม” เข้ามาช่วยเหลือ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การออกมาโพสต์ให้ข้อมูลอยู่ที่ความรู้สึกของคน คงไม่สามารถบังคับใครได้ เพียงแต่การออกมาให้ข้อมูลต้องให้ข้อมูลให้ครบ อย่างโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องระดับ 7 ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา ก็ไม่มีโรงพยาบาลใดขาดสภาพคล่องวิกฤตระดับ 7 เลย ทำไมไม่รายงานข้อเท็จจริงให้ทราบทั้งหมด ส่วนการขอให้ “ตูน บอดี้สแลม” ออกมาช่วยนั้น ใครเป็นคนขอก็ไปจัดการเองได้ แต่จะเข้ามาช่วยเรื่องอะไรนั้นตนไม่ทราบ เพราะที่ผ่านมารัฐไม่ได้นิ่งเฉย
นพ.วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผอ.รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.พระนั่งเกล้า ได้รับนโยบายให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับการขยายเมืองมากขึ้น ทำให้มีการลงทุนอาคาร สถานที่ เครื่องมือแพทย์ บุคลากร แต่จากการบริหารงานบริการห้องพิเศษ การเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคยาก ซับซ้อนทำให้มีมีสภาพเป็นบวกขึ้น แต่เนื่องจากมีการขาดสภาพคล่องสะสมมานานทำให้แม้ว่าจะมีรายรับเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังดูมีปัญหาติดลบอยู่ แต่ยืนยันว่าไม่ว่าตัวเลขจะเป็นอย่างไร แต่การดูแลสุขภาพของประชาชนยังให้บริการเหมือนเดิม