xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเพิ่มเงินขาดรายได้ “แรงงานนอกระบบ” เป็น 400 บาท รับวันเมย์เดย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน เร่งเดินหน้ายุทธศาสตร์บริหารจัดการ “แรงงานนอกระบบ” เร่งพัฒนารายได้ เพิ่มการคุ้มครอง สร้างเครือข่ายบูรณาการทำงาน เร่งปรับอัตราชดเชยการขาดรายได้จาก 200 เป็น 300 บาท เพิ่มกรณีชดเชยเสียชีวิตจาก 2 หมื่น เป็น 4 หมื่นบาทให้ทันวันเมย์เดย์

วันนี้ (4 เม.ย.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560 - 2564 ว่า ปัจจุบันแรงงานนอกระบบในไทยมีประมาณ 21 ล้านคน เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย และขาดความมั่นคง ดังนั้น ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560 - 2564 จึงจะมีการผลักดันอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องรายได้ จะมีการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้ ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยส่วนหนึ่งจะนำเอาการขึ้นทะเบียนคนจนมาพิจารณาเพิ่มทักษะด้วย ซึ่งโดยจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 12.5 ล้านคน น่าจะทำเรื่องการเพิ่มทักษะอาชีพได้ถึง 9 ล้านคน 2. เร่งผลักดันพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ให้แล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น โดยจะเน้นเรื่องสวัสดิการ ความปลอดภัย และรายได้ เป็นต้น และ 3. การบริหารจัดการระบบการดูแลแรงงานนอกระบบแบบบูรณาการ สร้างเครือข่ายระดับพื้นที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม เพื่อใช้เป็นกลไกการเป็นตัวแทน การจัดการสวัสดิการ ทั้งมาตรา 40 เรื่องความปลอดภัย โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างตัวแรงงานนอกระบบ และกระทรวงแรงงาน

“แผนระยะสั้นที่จะมีการผลักดันให้เป็นของขวัญสำหรับแรงงานนอกระบบให้ทันวันเมเดย์ 1 พ.ค. หรือ วันแรงงานแห่งชาติ นั้น จะมีการปรับสวัสดิการตามมาตรา 40 ในหลายๆ เรื่อง อาทิ การปรับอัตราการชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท การปรับอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจาก 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งคิดว่าไม่ยากและเกิดขึ้นได้ในวันเมย์เดย์นี้” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นางสุจิน รุ่งสว่าง แกนนำแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่มาตรา 40 หรือการประกันตนเองของสำนักงานประกันสังคมประมาณ 2 ล้านคน ถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเพราะเรื่องความสะดวก เพราะส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบจะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร อาจจะไม่ค่อยสะดวกเกินทางมาส่งเงินสมทบ ดังนั้นอยากขอให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาการจัดตั้งหน่วยบริการระดับชุมชนด้วยโดยให้ภาคประชาชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น