xs
xsm
sm
md
lg

เปิดถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐ คึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชาวเขมราฐเกือบ 100 ชีวิต แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง กำลังเต้นรำตามจังหวะดนตรีอีสานอย่างพร้อมเพรียงกันและสวยงาม อีกมุมหนึ่งมีเด็กหญิงหน้าตาน่ารักกำลังดีดไห พร้อมรำด้วยท่วงท่าอ่อนช้อย นี่คือ การแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น สะกดสายตานักท่องเที่ยว แขกที่มาเยือนถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ ภายในงานยังมีสินค้าท้องถิ่นให้เลือกช็อป อาหารพื้นบ้านให้เลือกมากมาย

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี ที่บริเวณถนนคนเดินอำเภอเขมราฐ จ.อุบลราชธานี โดยมี นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ภาคี เครือข่าย และประชาชน อำเภอเขมราฐ ให้การต้อนรับ

นายวีระ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) คัดเลือก “เขมราฐ” ให้เป็นถนนสายวัฒนธรรม และชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี เนื่องจากบ้านเรือนหลายหลังอายุนับ 100 ปี ของชุมชนแหล่งนี้ เจ้าของบ้านยังคงอนุรักษ์เอาไว้เพื่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นสภาพบ้านเรือน ตลอดจนของใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกันนี้ ยังได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้า ประเพณีแห่เทียนพรรษา เครื่องจักสาน จากรุ่นปู่ย่าตายายสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่ได้สืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงวิถีวิชีวิตคนในชุมชนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีอุปนิสัยเอื้อเฟือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การจัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม และชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เขมราฐ ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตโดยนำมิติความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงศิลปวัฒนธรรม สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ตลอดจนกิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี มาร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดความหลากหลาย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคม จิตใจ ที่สำคัญยังสร้างรายได้ให้คนชุมชนด้วย

นางลัดดา เจษฎาพาณิชย์ ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมอำเภอเขมราฐ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขมราฐ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเขมราษฎร์ธานี จัดขึ้นทุกวันเสาร์ จำนวน 10 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 เมษายน ถึงวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2560 เพื่อเสริมสร้างให้เด็กเยาวชนและประชาชนเกิดทัศนคติด้านความรักความผูกพันได้ตระหนักในคุณค่าและภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองที่มี สามารถพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรวมให้ยั่งยืน ทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและขยายโอกาสในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ
ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงสาธิตเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมการจัดแสดงนิทรรศการภาพเก่าเล่าขานตำนานเขมราฐ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีเวทีแสดงออกทางวัฒนธรรมร่วมเผยแพร่ภูมิปัญญาของชุมชน สร้างความรักความสามัคคีเกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองให้ยั่งยืน
อรทัย เจียวิทยนันท์ เลขาชมรมถ่ายภาพเขมราฐ เล่าว่า สมาชิกของชมรมฯได้คัดเลือกภาพถ่ายในอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีความสำคัญๆ มาจัดแสดง เพื่อเป็นการเล่าวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวของเขมราฐ ผ่านภาพถ่าย ถ้าสังเกตภาพแล้วเดินถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้จะพบว่าบ้านเรือนเก่าๆ อย่างโรงแรมสุขสงวน และที่ตั้งชมรมถ่ายภาพ มีอายุเกือบ 100 ปี เปิดประตูต้อนรับแขกผู้มาเยือน อย่างไรก็ตาม ชมรมฯได้วางแผนนำภาพถ่ายที่ถ่ายเก็บไว้มาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดแสดง เช่น เทศกาลแห่เทียนพรรษา สถานที่ท่องเที่ยว

จากนั้น อรทัย เล่าว่า นางรำ นักดนตรี ที่มาแสดงงานถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้ เป็นจิตอาสา มีทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงคนอายุกว่า 70 ปี แต่ทุกคนมาร้องเล่นเต้นรำด้วยใจ เพื่อสร้างความบันเทิง นัยสำคัญยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านเอาไว้ไม่ให้สูญหายด้วย

“จริงๆ ตอนนี้ กลุ่มร้องเล่นเต้นรำ ได้มีลูกหลานในชุมชนมาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรียนการแสดงพื้นบ้าน เชื่อว่าในอนาคตจะมีผู้สนใจมาเรียนเพิ่มขึ้น” อรทัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเขมราฐ ยังสามารถเดินทางล่องเรือลัดเลาะริมโขง สัมผัสธรรมชาติ ชมพระอาทิตย์พิชิตซิ่นบิน หาดทรายสูง เรียนรู้ธรรมชาติบนลาดหิน วิถีชีวิตประมง และปฏิหารย์รักหมากหว้าน้ำอมตะ เป็นต้น

ด้าน นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม บอกว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินโครงการถนนสายวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ถนนสายวัฒนธรรมในจังหวัดต่างๆ ของประเทศ ให้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ เป็นแนวทางการ จัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ วธ. ว่าด้วยการนำทุน
ทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือ Cultural Product of Thailand (CPOT) ประกอบด้วย 1. ภาษาถิ่นและภาษาชาติพันธุ์ 2. วรรณกรรมพื้นบ้าน 3. ศิลปะการแสดง 4. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล 5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม 6. ความรู้และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 7. กีฬาภูมิปัญญาไทย การเล่นการกีฬาและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และในด้านการท่องเที่ยวอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย โดย สวธ. ได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบันมีถนนสายวัฒนธรรมทั้งหมด 27 แห่ง ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ สำหรับปี 2560 มีแผนเปิดเส้นทางถนนสายวัฒนธรรม จำนวน 11 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ ถนนสายวัฒนธรรมกาดกองเก่า - กาดพระนอน อ.เมือง จ.แพร่ ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนย่านเก่าวังกรด อ.เมือง จ.พิจิตร ถนนสายวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ถนนกำแพงประวัติศาสตร์ อ.เมือง จ.กระบี่ และ ถนนสายวัฒนธรรมจังหวัดพังงา ถนนเขมราฐ จ.อุบลราชธานี ที่เหลืออีก 6 เส้นทางจะทยอยเปิด

...ถนนสายวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ต่างกันไป หากผ่านไป จ.อุบลราชธานี แวะมาเดินเพลินที่ถนนสายวัฒนธรรมเขมราฐ







กำลังโหลดความคิดเห็น