จักษุแพทย์ มธ. ร่วมทีมวิศวกร สร้างแอปพลิเคชัน “DeepEye” ช่วยตรวจคัดกรอง “จอตาเสื่อม” ผู้สูงอายุ และ “เบาหวานขึ้นจอตา” เผยดึงภาพจอตามาอ่านผลด้วยโปรแกรม แม่นยำใกล้เคียงจักษุแพทย์เชี่ยวชาญจอตา ช่วยพบรอยโรคไว ลดโอกาสตาบอด คว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ทีมจักษุแพทย์ มธ. ได้เข้าร่วมส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในงาน 45th International Exhibition of Inventions ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มี.ค.- 2 เม.ย. 2560 โดยมีนักประดิษฐ์จากหลากหลายประเทศทั่วโลกส่งผลงานเข้าร่วมประกวด โดยทีมจักษุแพทย์ มธ. ได้ส่งผลงานแอปพลิชัน “DeeEye Application” ซึ่งเป็นโปรแกรมการตรวจป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุและจากโรคเบาหวานขึ้นตาด้วยโปรแกรมในมือถือ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยเกียรติยศอันดับ 1 โดย DeepEye Application เป็นผลงานของทีมจักษุแพทย์ มธ. ร่วมกับทีมวิศวกรของ มธ. ร่วมกันประดิษฐ์นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนรูปแบบการตรวจโรคจอตาให้มีความแม่นยำสูงกว่าในปัจจุบันอย่างมาก
“โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุและโรคเบาหวานขึ้นตา เป็นสาเหตุตาบอดอันดับต้นๆ ของคนไทยและประชากรทั่วโลก ในสังคมผู้สูงอายุที่มีผู้ป่วยเบาหวานถึง 1 ใน 10 ของประชากร ซึ่งทุกคนต้องการการตรวจจอตาทุก 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อพบรอยโรคระยะเริ่มต้นที่สามารถรักษาไม่ให้ตาบอดได้ ในขณะที่มีจักษุแพทย์มีเพียง 1 คนต่อประชากรเกือบหมื่นคน หรือแสนคนในบางประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มาพบแพทย์เมื่อสายเกินไป ปัจจุบันการตรวจคัดกรองใช้การถ่ายภาพจอตาแล้วอ่านผลโดยพยาบาลหรือจักษุแพทย์ทั่วไป ซึ่งมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้สูง แต่นวัตกรรม DeepEye จะดึงภาพจอตาของคนกลุ่มเสี่ยงมาให้โปรแกรมแปลผลว่าปกติ หรือเริ่มเป็นโรคที่ต้องส่งพบจักษุแพทย์ได้แม่นยำ ใกล้เคียงกับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอตา ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันตาบอดจากโรคจอตาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นวัตกรรมนี้จะมีการนำมาใช้ในประเทศไทยในกลางปี 2560 นี้ คาดว่า จะช่วยขจัดภาวะตาบอดในผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวานของประเทศไทยได้ ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวแล้วยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจากความพิการได้อย่างมหาศาล