ศธ. เร่งใช้ “DLTV” ยกระดับผลการศึกษา แก้ปัญหาเด็ก ร.ร. ห่างไกล ครูไม่ครบชั้น ได้คะแนนโอเน็ตน้อย สั่ง กศจ. เร่งโฟกัสแต้มโอเน็ต แก้ปัญหาเจาะตรงเป้ามากขึ้น
วันนี้ (3 เม.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากกรณี ศธ. ระบุผลการวิเคราะห์ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปีการศึกษา 2559 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งได้ประกาศผลสอบไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2560 พบว่า จำนวนครูไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชา สถานศึกษามีขนาดเล็กและอยู่ห่างไกล รวมถึงปัจจัยความเป็นอยู่และรายได้ครอบครัวของเด็กล้วนส่งผลต่อคะแนนโอเน็ตทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่ง ศธ. ได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษามาโดยตลอด โดยวิธีการหนึ่งคือการให้สถานศึกษาขนาดเล็ก 15,000 แห่ง ใช้ระบบการเรียนการสอนผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ดีแอลทีวี) และต่อยอดการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้ทางไกล หรือ Distance Learning Information Technology (ดีแอลไอที) พบว่าคะแนนกลุ่มของสถานศึกษาที่ใช้สื่อเหล่านี้คะเเนนดีขึ้น มีการทำสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา (ไอซีที) ส่งลงไปมีการสอนภาษาไทยแบบเข้มในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ส่งผลให้เด็กทำคะเเนนเพิ่มขึ้นมาก
ดร.กมล กล่าวว่า นอกจากนี้ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ลงพื้นที่ จชต. อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ได้ผลักดันการขับเคลื่อนการศึกษาตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560 - 2579 อย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยผลงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2559 - มีนาคม 2560) ศธ. ได้เร่งใช้สื่อและช่องทางการเรียนรู้ โดยการจัดการศึกษาทางไกลดีแอลทีวี รวมทั้งระบบดีแอลไอที สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (อีทีวี) โดยแยกเป็น ดีแอลทีวี จำนวน 356 โรงเรียน ดีแอลไอที จำนวน 509 โรงเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตำบล จำนวน 416 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสให้ครูและนักเรียนได้เข้าถึงสื่อเทคโนโลยีการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัย แก้ปัญหาความขาดแคลนครูผู้สอน และเพื่อให้ครูสามารถพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้สูงขึ้น โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผ่านกลไกศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) นำผลการวิเคราะห์คะแนนโอเน็ตรายจังหวัดไปพัฒนาการศึกษา โดยการเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น กลุ่มพื้นที่ใดมีคะเเนนต่ำ และมีจุดอ่อนในวิชาใด เกิดปัญหาเพราะเหตุใด เพื่อจะเเก้ไขได้ตรงจุด ไม่เหวี่ยงแห การสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางจะได้ตรงกับความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษาในพื้นที่ เชื่อมั่นว่า จะเพิ่มระดับคะเเนนโอเนตให้สูงขึ้น