WHO ร่อนหนังสือถึง สธ. ยก “สสส.” ต้นแบบหน่วยงานสร้างสุขภาพระดับโลก แนะแก้ พ.ร.บ. สสส. การทำงานสร้างสุขภาพต้องอิสระ และมีงบประมาณที่เพียงพอ
จากที่กระทรวงสาธารณสุข จัดประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1 ในวันที่ 31 มีนาคม และจะจัดขึ้นครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 เมษายน นั้น องค์การอนามัยโลก โดย ดร.แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A. Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธาณสุข แสดงความเห็นกรณีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ว่า การสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เวทีในการตัดสินใจด้านนโยบายระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และสมัชชาสุขภาพโลก ล้วนเห็นพ้องว่าประเทศต่างๆ ควรมีกลไกทางการเงินที่ทันสมัย เพียงพอ และยั่งยืน เพื่อรองรับงานด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ดังนั้น กองทุนที่มีลักษณะคล้ายกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงถูกจัดตั้งขึ้นทั่วโลก และองค์กรอนามัยโลกตระหนักดีว่า สสส. มีสถานะเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าวในไทยและต่างประเทศ ผ่านการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่ผ่านมา สสส.มีส่วนช่วยผลักดันให้นโยบายใหม่ๆ เช่น การควบคุมยาสูบเกิดขึ้น ช่วยขยายโครงการด้านความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย
“สสส. และโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วโลก ประสบความสำเร็จ เพราะยืนหยัดอยู่บนหลักพื้นฐานที่ชัดเจน และพิสูจน์แล้วว่าได้ผล หนึ่งในนั้นคือ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ซึ่งความเป็นอิสระด้านการเงิน การดำเนินการ และนโยบาย ทำให้ สสส. สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่าดี นอกจากนี้ ยังทำให้ สสส. มีความยืดหยุ่น สามารถปรับกลยุทธ์การทำงานให้เหมาะสมกับโอกาสและความท้าทาย โดยไม่ติดอยู่กับข้อจำกัดโครงสร้างงานด้านสุขภาพเดิม แลฃะรับมือกับความท้ายทายด้านนโยบายที่หลากหลายได้เป็นอย่างดี”
ดร.แดเนียล ระบุอีกว่า หลักการที่สำคัญมากต่อประสิทธิผลของงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ คือ การมีทรัพยากรที่เพียงพอ และมั่นคง จึงจะช่วยให้มาตรการต่างๆ เกิดความยั่งยืน และมีส่วนสนับสนุนวิสัยทัศน์ด้านการสาธารณสุขของไทยในระยะยาว ทั่งนี้ ไทยใช้งบประมาณด้านสุขภาพประมาณร้อยละ 10 ในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาบางประเทศมาก ดังนั้นไทยต้องใช้จ่ายด้านนี้มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ยกตัวอย่างกรณีการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการด้านสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิแก่ผู้สูงอายุ จะมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเริ่มสร้างแรงกดดันต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและงบประมาณของประเทศในไม่ช้า วิธีที่ดีที่สุในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคือการเพิ่มการลงทุนในกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ พันธสัญญาของไทยในการบรรลุเป้าหมายของโลก ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และปฏิญญาว่าด้วยโรคไม่ติดต่อและว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนขององค์การสหประชาชาติ ล้วนต้องการการลงทุนในด้านนี้ที่มากขึ้น
“องค์การอนามัยโลกมีความยิดีเป็นอย่างที่ที่ร่วมงานกับ สสส. อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนหลักการต่างๆ ที่เป็นหัวใจแห่งความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ สสส. กล่าวคือ ความเป็นอิสระในการทำงานที่หลากหลายรอบด้าน และความเพียงพอและมั่นคงด้านการเงินในระยะยาวในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนไทย”