ประชาพิจารณ์แก้ไข พ.ร.บ. สสส. รอบแรก สธ. เผย ภาคีเครือข่ายห่วงตั้งเพดานกองทุน 4,000 ล้านบาท กระทบการทำงาน ได้รับงบน้อยลง ยันไม่ทำให้งบน้อย แต่งบไม่ให้โตขึ้น ใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากไม่เพียงพอขอเพิ่มได้ กรมบัญชีกลางชี้ปรับเพดานกองทุนได้ทุก 3 ปี แต่ต้องขอดูผลงาน เอ็นจีโอเตือนรับฟังรอบด้าน หลากหลาย
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ครั้งที่ 1 หรือ พ.ร.บ. สสส. โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และภาคีเครือข่าย รวมกว่า 100 คน
นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวขณะเปิดประชุม ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และ สธ. ได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ใน 16 ประเด็น เพื่อให้การปฏิบัติงานของกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีการประชาพิจารณ์ ในวันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 3 เม.ย. อย่างไรก็ตาม สสส. เปรียบเสมือนเรือ การปรับปรุงแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ตามพันธกิจที่กำหนด และเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. กล่าวว่า ประเด็นการกำหนดเพดานงบประมาณกองทุน มีความคิดเห็นหลากหลาย เช่น จะมีผลกระทบต่อผู้รับงบสนับสนุนหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา หลังจากพิจารณาการสนับสนุนโครงการต่างๆ พบว่า ไม่ทำให้ได้รับงบน้อยลง เพียงแต่ไม่ให้งบโตขึ้น ถือว่าเป็นประเด็นที่มีผู้เกี่ยวข้องมาก เรื่องงบประมาณนั้นมีการปรับได้ หากในการใช้มีประสิทธิภาพ เห็นผลชัดเจนขึ้น หากเงินไม่พอใช้ในการจัดการตรงนี้ก็สามารถขอเพิ่มได้ แต่หากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 4,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท หรือขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาท อย่างน้อยทุก 3 ปี จะมีการมาปรับวงเงินตรงนี้ อาจจะปรับขึ้นได้อีก ไม่ได้บอกว่าน้อยลง เป็นการการันตีด้วยซ้ำว่าจะไม่น้อยลง ไม่ได้มีการไปจำกัดอะไร ที่ผ่านมาบางปีใช้งบไม่ถึง 4,000 ล้านบาท ด้วยซ้ำ หากต้องการมากกว่านั้นก็ขอมาได้ ตามเห็นสมควร กระทรวงการคลังก็จะจัดหางบให้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ หลังจากทำประชาพิจารณ์จบทั้ง 2 วันแล้ว จะมีการปรึกษากันทั้ง 3 กระทรวงเพื่อที่จะปรับกฎหมายเป็นขั้นตอนสุดท้าย ให้ทั้ง 3 กระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมเป็นหลักในการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
นายวรัชญ์ เพชรร่วง ผู้อำนวยการกองกำกับและพัฒนาระบบเงินนอกงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้มีการปรับแก้ไขในมาตรา 11 ให้มีการกำหนดรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยการอนุมัติของ ครม. มีอำนาจในการปรับเพิ่มหรือปรับลดรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุก 3 ปี เพื่อให้กองทุนมีรายได้เพียงพอและเหมาะสมต่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงขอบเขตการดำเนินงานและผลการประเมินการดำเนินงานของกองทุน โดยเงินส่วนที่เกินจากรายได้สูงสุดที่กำหนดไว้ ให้กองทุนนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งเข้าใจว่ามีข้อห่วงใยเงินงบประมาณกองทุนฯ เป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิ อย่างไรก็ตามเงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณ ล้วนเป็นรายได้แผ่นดิน การกำหนดวงเงินไม่ใช่การลิดรอนอำนาจของกองทุนฯ ยังคงใช้งบได้ตามกรอบวัตถุประสงค์ และมีการเปิดช่องให้สามารถปรับเพิ่มได้
ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักการในการก่อตั้งของ สสส. ตั้งแต่ปี 2544 เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนในทุกสาขาอาชีพ เป็นเงินภาษีนอกงบประมาณ ดังนั้น หากมีการปรับแก้ไขควรแก้ไขในเชิงบูรณาการสร้างสรรค์เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ซึ่งล้วนเป็นภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงานกับ สสส. ไม่อยากให้ดำเนินการในลักษณะเร่งรีบจนเกินไป เพราะอาจกระทบกับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในภาพรวมได้
น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ สธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นให้หลากหลายมากขึ้น ทบทวนอย่างรอบด้าน เพราะจะแก้กฎหมายทั้งทีอย่าให้เสียของ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าการทำงานในโครงการต่างๆ จากภาครัฐลงไปไม่ถึงชาวบ้าน แต่กิจกรรมรณรงค์ดีๆ ที่เกิดขึ้นก็ได้งบประมาณมาจาก สสส. ที่ลงไปสนับสนุน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของคนเล็กคนน้อย มีความสำคัญมาก มองให้เห็นคุณค่าของคนจริงๆ เวลาประเมิน สสส. ต้องมองให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ด้วย