xs
xsm
sm
md
lg

คัดเลือก “ครู” ที่ไม่จบศึกษาศาสตร์ดีกว่าจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จากการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูปี 2560 โดยเปิดรับสมัครผู้จบการศึกษาจากสาขาอื่นที่ไม่ใช่ศึกษาศาสตร์ ได้เกิดข้อถกเถียงว่านโยบายนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเปิดรับสมัครเฉพาะผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์หรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่าระบบการศึกษาควรมีการเปิดรับทั้งสองวิธีการควบคู่กัน โดยการเปิดรับสมัครผู้จบสาขาศึกษาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก ส่วนการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเป็นวิธีเสริมสำหรับพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูในสาขาขาดแคลน และการสรรหาครูอาชีวศึกษาซึ่งต้องการการบริหารที่แตกต่างจากครูสายสามัญ หากไม่มีความขาดแคลนครู การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะต้องเพิ่มงบประมาณในการคัดเลือกและการฝึกอบรมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การวัดความขาดแคลนครูควรพิจารณา จากจำนวนผู้สอบผ่านรายสาขาเปรียบเทียบกับความต้องการในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการควรเปิดเผยต่อสาธารณะ

ผู้เขียนยังเห็นว่าการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกคนเก่งและลดความขาดแคลนครูบางสาขา แต่ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ครูสอนดี ซึ่งหมายถึงครูที่มีความรู้ความสามารถด้านการสอนทั่วไปและการสอนในวิชาเฉพาะ เช่น ครูคณิตศาสตร์ควรสามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ว่า ทำไมนักเรียนเข้าใจผิดว่า “0.2 x 6 มากกว่า 6/0.2” หรือหาตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ช่วยให้นักเรียนใจความหมายของ “1¼ หารด้วย ½” ได้

การสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการในปัจจุบันยังเป็นการคัดเลือกคนเก่งเนื้อหาวิชามากกว่าครูสอนดี เพราะข้อสอบวัดเฉพาะเนื้อหาความรู้วิชาเอก ความรู้รอบตัว และความรู้เรื่องกฎหมายการศึกษา ไม่มีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเอก นอกจากนี้ ผู้สอบผ่านบางคนจะได้สอนนักเรียน ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการสอน โดยปัจจุบันคุรุสภาอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้าสอนได้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเพียงว่าผู้นั้นต้องพัฒนาตนเองจนได้รับใบอนุญาตฯ ภายในระยะเวลาดังกล่าว

หากกระทรวงศึกษาธิการต้องการที่จะเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป ก็ควรเร่งปรับปรุงการคัดเลือก โดยเพิ่มการทดสอบความสามารถด้านการสอนด้วย และควรต้องจัดหลักสูตรเตรียมความพร้อมด้านการสอนอย่างเข้มข้น ดังกรณีตัวอย่างโครงการ Boston Teacher Residency ที่เขตพื้นที่บอสตันเปิดโครงการรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อลดความขาดแคลนครูสาขาคณิตศาสตร์ โดยให้ทุนการศึกษาซึ่งช่วยดึงดูดคนเก่ง และมีการคัดเลือกผู้สมัครผ่านการทดลองสอนและการทำกิจกรรมผู้สอบผ่านต้องเข้ารับการเตรียมความพร้อมด้านทฤษฎีก่อนเปิดภาคเรียนและต้องฝึกฝนกับครูพี่เลี้ยงในช่วงเปิดเทอม โดยการสังเกตการสอนของครูพี่เลี้ยง ผลปรากฏว่า นักเรียนที่เรียนกับครูในโครงการนี้มีพัฒนาการของผลการเรียนดีกว่านักเรียนกลุ่มอื่น นอกจากนี้ ร้อยละ 86 ของครูในโครงการนี้คงทำงานสอนต่ อเนื่องไปนานกว่า 3 ปี ในขณะที่ครูทั่วไปเพียงร้อยละ 53 เท่านั้นที่สอนนานกว่า 3 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่า ผู้จบหลักสูตรศึกษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นครูสอนดีทุกคน จากข้อมูลของโครงการทดสอบความรู้ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ปีสุดท้าย วิชาเอกคณิตศาสตร์ ในปี 2551 (The Teacher Education and Development Study in. Mathematics: TEDS-M 2008) ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมทั้ง 17 ประเทศ นักศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ไทยกลุ่มเก่งที่สุด 20% แรก (TOP 20) มีผลการสอบวิชาการสอนคณิตศาสตร์ เทียบเท่ากับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของการทดสอบ ขณะที่กลุ่มอ่อนที่สุดมีผลการสอบใกล้เคียงกับคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษาชิลี ซึ่งอยู่ในอันดับสุดท้าย

นอกจากนี้ โครงการทดสอบนานาชาติ TIMSS 2011 (Trends in International Mathematics and Science Study) ยังพบด้วยว่า ในปี 2554 ร้อยละ 55 ของนักเรียน ม.2 ของไทย ซึ่งเรียนกับครูรุ่นใหม่ (ประสบการณ์การสอนน้อยกว่า 5 ปี) ถูกสอนให้จําสูตรและวิธีการทําโจทย์เป็นหลักทุกคาบเรียนมากกว่าได้รับการสอนให้เข้าใจเนื้อหาจริงๆ

คณะศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยควรปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของตนด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ที่บางแห่งรับนักศึกษามากเกินความสามารถในการดูแล หลักสูตรที่คุรุสภากำหนดยังไม่มีกลุ่มวิชาการสอนในวิชาเฉพาะ ทั้งที่ประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพสูงให้ความสำคัญมาก เช่น มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิในประเทศฟินแลนด์ มีกลุ่มวิชานี้ประมาณร้อยละ 21 ของหน่วยกิตทั้งหมด และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยโครงการ TEDS-M 2008 ได้สำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งของนักศึกษาไม่ได้รับการดูแลจากครูพี่เลี้ยง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียน และครูพี่เลี้ยงไม่มีความพร้อมแ ละมีภาระงานหนักอยู่แล้ว ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรและการตั้งโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่ฝึกประสบกา รณ์วิชาชีพโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ คุรุสภาควรเพิ่มความเข้มแข็งในการกำกับดูแลคุณภาพผู้จบการศึกษา และคณะศึกษาศาสตร์ โดยการสอบเพื่อออกใบอนุญาตฯ ที่จะเริ่มในปี 2561 ควรมีการทดสอบความสามารถด้านการสอนในวิชาเฉพาะด้วย นอกจากความรู้ด้านเนื้อหาวิชาและการสอนทั่วไป และการประเมินหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ควรพิจารณาผลการสอบเพื่อออกใบอนุญาตและผลการสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูร่วมกับตัวชี้วัดอื่นด้วย ซึ่งในกรณีผลประเมินต่ำ ควรให้คณะศึกษาศาสตร์นั้นลดจำนวนการรับนักศึกษาในปีต่อๆ ไป

ความร่วมมือระหว่างฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้กำกับโรงเรียนและคณะศึกษาศาสตร์และกลุ่มครู เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูประบบการบริหารบุคลากรทั้งกระบวนการการปฏิรูปการฝึกหัด และการคัดเลือกครูเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน แต่ควรพิจารณาข้อมูลต่างๆ ประกอบอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยยึดผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น