กรมอนามัย ย้ำ พ.ร.บ. คุมการตลาดนมผง ห้ามโฆษณา “อาหารทารก” ส่วนอาหารเด็กเล็กห้ามโฆษณาโยงว่าทารกกินได้ ด้าน อ.จุฬาฯ ชี้ ต้องส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานด้วย เผย พบเคสแม่ให้นม 3 - 4 ราย ถูกไล่ออกจากงาน
ความคืบหน้ากรณีข้อเห็นต่างร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเครือข่ายกุมารแพทย์เสนอว่าควรควบคุมเพียงอาหารสำหรับทารกอายุถึง 1 ปี เพียงอย่างเดียวที่ห้ามโฆษณา และการสื่อสารตลาด แต่ไม่ควรควบคุมอาหารสำหรับเด็กเล็กอายุ 1 - 3 ปี
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ในงานสัมมนา “การเพิ่มการรับรู้เกี่ยวการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้อาหารตามวัยทารกและเด็กเล็กสำหรับสื่อมวลชน” นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีกระบวนการที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิด และลดความน่าเชื่อถือของร่าง พ.ร.บ. นี้ แต่เชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้ควบคุมการจำหน่ายหรือปิดกั้นธุรกิจ แต่เป็นการปกป้องแม่และเด็กทารกให้ได้รับอาหารที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมามีการโฆษณาอาหารเด็กเล็ก ที่เหมารวมให้ทารกบริโภคไปด้วย ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากนมแม่ จึงมองว่ากฎหมายเดินหน้าได้ เพียงแต่ระหว่างทางอาจถูกสร้างความเข้าใจผิด ก็ต้องมีการสื่อสารที่ถูกต้อง
“ขอย้ำว่า การมีกฎหมายก็เพื่อปกป้องคุ้มครองแม่และทารก โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายเป็นหลัก ไม่ได้ห้ามขาย การที่ต้องมีมาตรการเช่นนี้ก็เพราะว่า ที่ผ่านมา นมแม่ไม่มีการโฆษณา แต่นมผงกลับมีการส่งเสริมการขายและโฆษณามากมาย โดยเฉพาะอาหารของเด็กเล็ก ซึ่งมีการโฆษณาว่าทารกกินได้ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายเอาผิด แต่ พ.ร.บ. นี้ จะเอาผิดทันที ส่วนกลุ่มอาหารเด็กเล็กก็ยังขายได้ตามปกติ แต่ต้องไม่โฆษณาที่เกี่ยวข้องกับทารก โดยต้องมีการติดฉลากที่ชัดเจน แยกให้ชัด ไม่ใช่ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้เลย” นพ.ธงชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายจะควบคุมการส่งเสริมการขายและโฆษณาในธุรกิจอาหารเด็กเล็กและทารกกลุ่มใดบ้าง นพ.ธงชัย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงของกฎหมาย คือ ห้ามโฆษณาอาหารเสริมทารกเป็นหลักและฉลากต้องแยกให้ชัดระหว่างอาหารทารกและเด็กเล็ก กล่าวคือ ห้ามโฆษณาอาหารทารกถึง 1 ปี เพราะกลุ่มนี้ต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนจากนมแม่ ส่วนกลุ่มเด็กเล็กอายุ 1 - 3 ปีนั้น ห้ามโฆษณาโดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารก หรือระบุว่าใช้เลี้ยงทารกได้ แบบนี้ถือว่าผิด และหากไม่มีฉลากติดให้ชัดเจนก็จะผิดอีก โดยจะมีโทษจำคุก 1 ปีและปรับ 1 แสนบาท แต่หากมีการส่งเสริมการขายอีกก็จะมีโทษปรับตั้งแต่ 1 - 3 แสนบาท เป็นต้น
ผศ.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมี พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากบริษัทนมล้มเหลวในการใช้จริยธรรมในการควบคุมการกระทำของตัวเองและตัวแทน เพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของบริษัทนม ทำให้กระทบต่อการตัดสินใจของแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยการทำให้เข้าใจผิดคิดว่า นมผงดีกว่า หรือมีประโยชน์เท่านมแม่ และทำให้เข้าใจผิดว่าหลัง 6 เดือนหรือ 1 ปีไปแล้ว นมแม่ไม่มีประโยชน์ ทั้งที่ความจริงแล้วนมแม่อย่างเดียวไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ แต่ไม่พอต้องกินอาหารอื่นร่วมด้วย
“ดังนั้น พ.ร.บ. นี้ จะช่วยปกป้องแม่และทารกเป็นหลัก เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นจริง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการออกกฎหมายนั้น ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องมีการผลักดันด้วย อาทิ การส่งเสริมเรื่องสถานที่ให้นมแม่ในที่ทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ การพักเพื่อให้นมลูก ซึ่งที่ผ่านมาแม้บริษัทหลายแห่งจะจัดมุมนมแม่ให้ แต่ก็มีหลายบริษัทไม่เข้าใจจุดนี้ โดยที่ผ่านมา พบว่า มีแม่ 3 - 4 ราย ถูกให้ออกจากงาน เนื่องจากใช้เวลาในการบีบนมเพื่อเก็บไว้ให้ลูก โดยใช้เวลาเพียง 20 - 30 นาทีต่อวัน เท่านั้น จุดนี้ทางมูลนิธิจึงมีความพยายามในการหารือกับทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการขอความร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆ เพื่อขอความเห็นใจในจุดนี้ด้วย” ผศ.ปารีณา กล่าวและว่า หากประเทศไทยมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการให้นมแม่ในทารกอย่างรอบด้าน ก็คงไม่ต้องมี พ.ร.บ. แต่ความเป็นจริงไม่ใช่การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังคงมีอยู่ ขณะที่นมแม่ก็ถูกลดความสำคัญไป จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีกฎหมายนั่นเอง