คุณเคยจินตนาการไหมว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เทรนด์โลกและการศึกษาไทยจะเป็นยังไง?
คำถามสั้นๆ แต่กลับสร้างความสงสัยในคำตอบแบบอินฟีนิตี้ ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตข้างหน้า โลกจะออกมาในหน้าตาแบบไหน แต่นั่นคงเดาได้ไม่ยาก หากว่าในปัจจุบันมนุษย์ได้เข้าสู่ยุค “ปัญญาประดิษฐ์” อย่างเต็มรูปแบบ
การนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาเชื่อมต่อกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่เห็นกันอยู่ในยุคปัจจุบัน นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนเราอยู่นัยๆ ว่า “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างปฏิเสธไม่ได้” ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ “เทรนด์โลก” ถูกเปลี่ยนไปตามการใช้ชีวิตของมนุษย์ในอนาคต เรื่องของ “การศึกษา” ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน
นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์จัดกิจกรรม “Success Design Forum” ปีที่ 5 ตอน “CHANCE to CHANGE” ขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองและน้องๆ ได้ร่วมค้นหาคำตอบ และแนะแนววิธีการรับมือกับโลกอนาคตที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับเหล่าอาจารย์ผู้คลุกคลีในแวดวงการศึกษา จากโรงเรียนกวดวิชา “OnDemand”
“ในวิกฤตที่มีปัญหา ใจกลางของปัญหานั้นคือโอกาส”
ถ้านิยามถึงคำว่า “โอกาส” และ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่มาของงานนี้ได้มาจากคำโควทของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ที่บอกว่า “ในวิกฤติที่มันมีปัญหา ใจกลางของปัญหานั้นคือโอกาส” โอกาสที่ยิ่งมีค่าและยิ่งสำคัญ มักจะหาได้ในวิกฤติ
ถามว่าวิกฤตมันเกิดจากอะไร? - คุณโหน่ง สุธี อัสววิมล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมาน์ พูดย้ำอีกครั้งก่อนอธิบายต่อไปว่า “วิกฤตมันเกิดจากความรู้สึกในใจเรานะ พอเราเจอการเปลี่ยนแปลงแล้วรู้สึกกลัว หรือบางครั้งไม่ยอมรับมัน ถ้าเกิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงแล้ว การบอกให้คนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงรู้เท่าทันและรับมือกับมันได้ นั่นคือโอกาส”
อย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อเทรนด์โลกในอนาคตกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการศึกษาและอาชีพในอนาคต
“ปีที่แล้วผมรีเสิร์ชเรื่องนี้ มีโอกาสได้ไปที่ประเทศอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และสิงค์โปร์ สิ่งที่เห็นตรงกันเลย คือ เทคโนโลยีมันจะเปลี่ยนโลก มันคือการเกิด “Social Disruption” จากเทคโนโลยี พอเจาะเข้าไปในเรื่องการศึกษา มันเลยเกิดมิติว่า การศึกษาจะไม่แบ่งว่าในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนอีกต่อไป”
สำหรับระบบการศึกษาในประเทศไทย สิ่งที่เด็กยุคใหม่ รวมถึงผู้ปกครองที่ต้องเตรียมตัวรับมือให้ดีกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นคือ “ระบบสอบใหม่ Ent' 4.0” ที่มาพร้อมกับสโลแกนที่ว่า “1 คนต่อ 1 สิทธิ์” อีกทั้งยังมีเรื่องของ “ทักษะศตวรรษที่ 21” ที่เด็กไทยยุคใหม่ควรมีเพื่อความอยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้
“อย่างแรก ในฐานะที่พี่โหน่งอยู่ในวงการการศึกษาและเราตามข่าวทุกวัน จะรู้ว่าข่าวบวกคำแนะนำไหนที่รวมตัวกันเป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องรับรู้กันทั้งหมด งานนี้มันเลยเกิด เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ตลอดเวลา ไม่เห็นทุกๆ ด้าน เราก็จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางตรงนี้
เรื่องที่สองคือ เรื่องของทักษะศตวรรษที่ 21 กับการเริ่มกลับมาสนใจเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและความดี เรื่องนี้จะทำให้ประเทศชาติเจริญและร่มเย็นได้จริง เราจึงนำเรื่องนี้มาเตือนและบอกให้คุณพ่อ-แม่ น้องๆ ได้รู้ว่าพอโลกมันเปลี่ยนเรื่องพวกนี้มันสำคัญ
เพราะฉะนั้น เราไม่ได้เน้นว่าจะทำใจให้เข้มแข็ง แต่เราเน้นว่าเราจะ “รู้” “เข้าใจ” และ “รับมือ” กับมันยังไง แต่ถ้าในมุมของน้องๆ และคุณพ่อ - แม่ เราพบปัญหาที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือความไม่เข้าใจกัน คุยกันและเป็นทีมกันไม่ได้ เราจึงต้องทำหน้าที่แก้จุดอ่อนในเรื่องนี้พร้อมๆ กันไปเลยในงานนี้”
“หมอ-วิศวะ” อาชีพในฝันของเด็กไทย?
“เมื่อสังคมพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ความคาดหวังในการเลือกอาชีพให้ลูกของพ่อแม่ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น” กว่า 80% ของเด็กไทยที่เรียนสายวิทย์ - คณิต มักมีเป้าหมายในทางเดียวกัน คือ ไม่ปักหมุดไปที่ “คณะแพทยศาสตร์” ก็ต้องเป็น “คณะวิศวกรรมศาสตร์” นี่จึงเป็นอาชีพยอดฮิตของเด็กสายวิทย์ - คณิต บวกกับความคาดหวังของพ่อ - แม่ที่มองว่าอาชีพเหล่านี้นี่แหละ “สร้างความมั่นคงและผลตอบแทนได้ในอนาคตระยะยาว”
คำถามคือเมื่อค่านิยมและค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ทำให้อาชีพหมอและวิศวกรครองอันดับอาชีพป๊อปปูล่ามากที่สุด แต่มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ต่อแถวเข้าสู่คณะในฝัน ทว่า กลับไม่เป็นอย่างที่คิด โอกาสนี้ ครูเคน-อรรถเวชกุล และ ครูวิเวียน - นพ.วีรวัช เอนกจำนงค์พร จึงได้เตรียมข้อมูลมาแบทเทิลกันในหัวข้อ “หมอ vs วิศวะ” ในรูปแบบ “Untold Story” ในมิติใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเช่นนี้มาก่อน
“สิ่งที่ต้องเผชิญคือการเรียนหนัก - เรียนนาน ปิดเทอมน้อยกว่าคณะอื่นๆ ถึงครึ่งหนึ่ง แถมปริมาณหนังสือที่ต้องอ่านสูงเท่าหัวไหล่ และยังมีความเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ จากคนไข้ด้วย”
แม้การเริ่มต้นดีเบทจะพูดถึง “อาชีพหมอ” ในมุมที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน จากผู้ที่คลุกคลีวงการแพทย์มานาน อย่าง “ครูวิเวียน” อาจทำให้พ่อ-แม่และน้องๆ บางคนถึงกับต้องใจสั่นไปบ้าง ทว่า ด้วยผลตอบแทนที่มีรายได้สูงและสร้างความมั่นคง (รายได้เฉลี่ย 50,000++ บาท / ใน รพ.เอกชน มีรายได้เฉลี่ย 120,000++ บาท) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตอบคำถามใครหลายคนได้ว่า “ทำไมอาชีพหมอถึงเป็นอาชีพในฝันของเด็กไทย”
แม้อาชีพหมอจะมีจำนวนตัวเลขในเรื่องรายได้มาการันตีถึง “ความมั่นคง” แต่ทั้งนี้ “ครูเคน” ในฐานะผู้ที่จบสายวิศวะก็ได้ของัดไม้เด็ด มาเปิดไพ่สู้ด้วยเหมือนกันว่าอาชีพวิศวกรก็ไม่ได้มาเล่นๆ
ข้อมูลจาก Adeccoบริษัทจัดหางาน เผยว่า เงินเดือนของวิศวกรในช่วง 5 ปีแรก มีตั้งแต่ 15,000 - 100,000 บาท ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง เงินเดือนของอาชีพวิศวกรจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4% ของทุกปี (ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ) ซึ่งในขณะที่อาชีพหมอต้องเรียนเฉพาะทางเท่านั้น ถึงจะเพิ่มมูลค่าและเพิ่มเงินเดือนได้
นอกจากอาชีพหมอและวิศวกรที่ดูเหมือนว่าจะเป็นอาชีพอันดับต้นๆ ของประเทศที่เด็กไทยเทคะแนนให้หมดหน้าตัก ทว่า ในยุคที่คนรุ่นใหม่ต่างต้องการที่จะประสบความสำเร็จ กลับมีอาชีพที่ช่วงหลังมานี้ต้องบอกเลยว่า กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของอาชีพที่ฮอตไม่แพ้กัน นั่นคืออาชีพ “เจ้าของธุรกิจ”
ทั้งนี้ ครูกั๊ก - ปรัชญพงศ์ ยาศรี จากออนดีมานด์ อินเตอร์ ได้ให้ข้อมูลและเผยให้เห็นว่า กลุ่มสตาร์ทอัปที่ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพของสายอินเตอร์ที่กำลังมาแรงที่สุด ซึ่งทางออนดีมานด์ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนักเรียนที่สนใจหลักสูตรอินเตอร์ จึงได้จัดให้มีโปรแกรมการติวสำหรับการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อในหลักสูตรอินเตอร์ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์
แน่นอนว่า สิ่งที่หลักสูตรอินเตอร์ได้เปรียบ คือ “ภาษา” ซึ่งการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สามารถทำให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะทางด้านภาษาในชีวิตประจำวันทั่วไปแล้ว ยังมีความจำเป็นในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อประกอบวิชาชีพ รวมถึงการเรียนอินเตอร์ที่เมืองไทยยังได้เปรียบในเรื่อง “วัฒนธรรม” อีกด้วย
สุดท้ายแล้ว ครูกั๊กยังฝากถึงน้องๆ อีกว่า ไม่ว่าจะเลือกทางไหน มีคำพูดหนึ่งของ “สตีฟ จ็อบส์” ได้กล่าวไว้ว่า “The only way to do great work is to love what you do. If you haven't found it, keep looking. Don't settle.” - เราจะต้องทำงานที่ตัวเองรัก เพราะงานที่เรารักจะพาไปหาความสำเร็จได้ หากยังไม่เจอให้มองไปเรื่อยๆ อย่าอยู่นิ่งที่จะมองหา
ทักษะศตวรรษที่ 21 : “โอกาส” สร้าง “ความสำเร็จ”
“โอกาส” จะสร้าง “ความสำเร็จ” ให้ใครสักคนได้จริงหรือไม่? ผลลัพธ์ที่ว่าคงขึ้นอยู่กับวิธีการรับมือและการวางแผนที่รอบคอบของคนๆ นั้น “ครูชัว ศิริชัย เพชรชู” จากออนดีมานด์ ประถม บอกกับเราถึงวิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงว่า
“อย่างแรกที่ควรปลูกฝังเด็กๆ คือ เรื่องของความฝันและแรงบันดาลใจ จริงๆ ผู้ใหญ่เราก็ต้องมีเป้าหมายเหมือนกันว่า อีก 5 - 10 ปี ข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร และวันนี้เราได้ทำอะไรบ้างเพื่อจะตอบสนองสู่ความฝันที่เราได้ทำไว้ ซึ่งความฝันในวัยเด็กคือสิ่งที่ทำให้เขามีความคิดสร้างสรรค์
โลกได้ทำสเป็กเอาไว้แล้วว่า เด็กเดี๋ยวนี้มีองค์ความรู้อย่างเดียวไม่พอ เด็กจะต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มันไม่ใช่เรื่องของการท่อง-จำแล้ว ดังนั้น กรอบข้างนอกคือสิ่งที่โลกต้องการ”
ซึ่งทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย ทักษะชีวิตและการทำงาน, ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม, ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กไทยสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงความสามารถของตัวเองให้รองรับกับการแปลงแปลงของโลกที่รวดเร็วมากขึ้นได้
ทางด้าน “ครูป่าน - มคธ ทิพย์ชัยเชษฐา” ได้พูดถึงเรื่องการเตรียมตัวสอบสำหรับน้องๆ ในชั้น ม.ต้น ว่า ควรเก็บเนื้อหาให้ครบไม่เกิน ม.1 เพราะช่วงเวลาที่เหลือควรเป็นเรื่องของการฝึกทำข้อสอบประลองสนามจริง รวมถึงได้มีการแจกฮาวทูการเรียนวิชาเลขให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย
“เคล็ดลับการเรียนวิชาเลขให้ประสบความสำเร็จ ผมจะบอกเลยว่าเลขเป็นวิชาที่พื้นฐานมาจาก “ความเข้าใจ” สิ่งที่น้องต้องทำคือ เริ่มจาก “ความเข้าใจ” นำมาก่อน “ความจำ” ถ้าเราใช้ความเข้าใจก็จะทำให้จำได้แบบที่เรียกว่า “Long Term” มากขึ้น ออกแรงน้อยขึ้นและจะเหนื่อยน้อยลง”
ขณะที่การเดินหน้าการศึกษาไทยในระบบสอบใหม่ Ent' 4.0 ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่พ่อแม่และน้องๆ ให้ความสนใจกันอย่างมาก ซึ่ง “ครูเต้ย - ดร.ไพฑูรย์ คงเสรีภาพ” ได้ออกมาสรุปใจความสำคัญของระบบสอบเอนทรานซ์ใหม่ที่เรียกได้ว่าสร้างความกระจ่าง ตรง ครบทุกประเด็น
“Ent' 4.0 มีการวางรากฐานไว้ว่าแก้ปัญหาเอนทรานซ์ระบบเก่า อย่างแรกเลยคือนักเรียนจะต้องจบ ม.6 ก่อนถึงจะสอบได้ อย่างที่สองคือ นักเรียนทุกคนควรมีสิทธิ์แค่สิทธิ์เดียว สุดท้ายคือ สนามสอบควรมีแค่สนามเดียว Ent' 4.0 ต้องการ 3 ข้อนี้”
สุดท้ายนี้ ครูเต้ยยังฝากให้กำลังใจน้องๆ ที่เตรียมตัวเข้าสู่ระบบการสอบใหม่ในครั้งนี้อีกว่า ไม่ควรบั่นทอนกำลังใจตัวเองด้วยการบอกว่าทำไม่ได้ แต่ให้เชื่อว่าเราจะทำมันได้และมุ่งมั่นไปให้ถึงสิ่งที่ฝัน
การวางแผนการเรียนให้ประสบความสำเร็จ สอบติด สอบได้ มันอยู่ที่มุมมอง หากเราบอกกับตัวเองว่า “โง่หรือขี้เกียจ” สิ่งที่เกิดขึ้นคือความน่าหดหู่ การที่เราทำไม่ได้มันแค่เรายังไม่รู้ ถ้าบอกกับตัวเองว่า “เราทำได้” กำลังใจมันจะมา ถ้าเรามีกำลังใจและความเชื่อ เราจะเดินหน้าต่อไปได้
“สงกรานต์” เรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยาย
เรื่องจริงของเด็กชายคนหนึ่งถูกบอกเล่าเรื่องราวผ่านหนังสั้น “สงกรานต์” จากเด็กชายที่สูญเสียคนที่รัก แต่ไม่ยอมสูญเสียความฝัน การเดินทางของเขาเริ่มต้นจากความว่างเปล่า ผ่านอุปสรรคที่คอยพิสูจน์เขาตลอดการเดินทาง ความตั้งใจที่จะฝืนกฎเกณฑ์ของโชคชะตา
ด้วยความเชื่อที่ว่า “การศึกษา” เท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตของเขาประสบความสำเร็จ และสามารถนำพาครอบครัวให้กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง เขาจึงตัดสินใจส่งจดหมายฉบับแรกมาหาครูพี่โหน่งซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ เพื่อเล่าเรื่องราวชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร และเรื่องราวของสงกรานต์ก็ทำให้ครูพี่โหน่งตัดสินใจที่จะให้โอกาสครั้งสำคัญแก่เขา นั่นคือ โอกาสทางการศึกษา ที่ออนดีมานด์เชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตของสงกรานต์ดีขึ้น โดยสามารถติดตามเรื่องราวของสงกรานต์ได้ที่ Facebook Fanpage OnDemand และทาง Youtube
ไม่เพียงแค่ “สงกรานต์” แต่กว่า 13 ปีแล้วที่ทางโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์มุ่งมั่นตั้งใจช่วยเหลือน้องๆ ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ Success Design Forum ปี 5 ในครั้งนี้ที่ทางโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์มุ่งหวังที่จะเข้ามาดูแลทุกการเปลี่ยนแปลงตลอดปี ซึ่งทั้ง 6 โปรเจกต์ล้วนแล้วมีส่วนช่วยให้น้องๆ ประสบความสำเร็จและไปถึงฝัน
ไม่ว่าจะเป็น S Class (ห้องสด) พร้อม Homeroom Teacher, Mock Exam ทุกสนามสอบพร้อมระบบ Upscore, Facebook (ห้องเรียนพิเศษ), ปูทางฝัน (Live ก่อนสอบ), Oncounter พร้อม Family Conference และ Success Design Forum พร้อมกับ Inter Insight Forum ที่จะเข้ามาช่วยให้น้องๆ ข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างแข็งแรง
“มันมีอยู่หลายเรื่องที่เวลามันจำกัดและเราไม่สามารถส่งออกไปได้หมด มันเลยเกิดเซสชั่นสุดท้ายที่เราอยากจะทำ Success Design Forum ตลอดปีให้เขา ให้คุณพ่อ คุณแม่ ให้น้อง คือจะมีโปรเจกต์อีก 6 โปรเจกต์ที่จะออกไปให้คุณพ่อ คุณแม่ และน้องๆ ได้รับประโยชน์ตลอดทั้งปี
เช่น จัดการประชุมครอบครัว สมมติว่าน้องอยากเป็นหมอ เราก็รับมาเลย 200 คู่ ผู้ปกครอบกับน้องต้องมาด้วยกัน ถือโอกาสเคลียร์ ถ้าอย่างนี้ทุกอย่างจะได้ทั้งเปิดใจ ได้ข้อมูล พร้อมบอกกลยุทธ์ในการตระเตรียมตัว และบอกโอกาสที่มีทั้งหมด ถ้าเราทำแบบนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี มันก็จะเป็นการได้เติมเต็มคะแนนที่หายไปตรงนี้”
อย่างไรก็ตาม หลังกิจกรรม “Success Design Forum” ปีที่ 5 สิ้นสุดลง เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ปกครองและน้องๆ ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากิจกรรมในครั้งนี้มีประโยชน์และรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก
“ก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยเข้าใจกับระบบ En't 4.0 เท่าไหร่ พอได้มาฟังเหมือนได้ทำความเข้าใจกับระบบนี้ และได้รับการเตรียมตัวสอบเข้า ทำให้เราเก็บจุดที่เราเคยพลาดมาทบทวนตัวเองได้ และรู้จักวิธีจัดการความเครียดของตัวเองด้วยค่ะ หลังจากที่มางานนี้ หนูคงมีการวางแผนมากขึ้น เพราะเรารู้จุดหมายของเราแล้วว่าจะไปทางไหน” - มายด์ รวิสรา ดิเรกดิ์พงษ์ นักเรียนชั้น ม.5 สายวิทย์ - คณิต ร.ร.สวนกุหลาบ สระบุรี
“คุณแม่มาเป็นครั้งแรกค่ะ เรื่องระบบสอบใหม่พอจะรู้บ้าง แต่พอมาฟังแล้วเข้าใจมากขึ้น อีกอย่างคือ ได้เข้าใจถึงอาชีพแพทย์จริงๆ ว่าเรียนหนักแค่ไหน มีมุมที่เรายังไม่รู้ยังไงบ้าง ช่วยในเรื่องการตัดสินใจได้ดีขึ้นค่ะ ยิ่งเด็กยุคนี้เขาต้องสอบเยอะ ความเครียดสูง เราต้องคอยซับพอร์ตเขาในทุกๆ เรื่อง พอมาฟังวันนี้ทำให้เราเข้าใจลูกมากขึ้น ถือเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ อยากให้จัดทุกปี” - สรัลธร ตัณฑ์สุรัตน์ ผู้ปกครอง
สำหรับน้องๆ และผู้ปกครองที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับออนดีมานด์ได้ทาง www.OnDemand.in.th เฟซบุ๊ก OnDemandAcademy หรือ โทร. 02-251-9456
เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)