หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมจะต้องเข้าไปฟื้นฟู “เรือนจำ” หรือ “คุก” ให้มีความสะดวกสบายต่อผู้ต้องขังมากขึ้น จะยกระดับคุณภาพชีวิต “นักโทษ” ไปทำไม เพราะคนทำผิดก็ควรได้รับการลงโทษอย่างสาสม ที่สำคัญ คือ อาจทำให้ “คุก” หมดความน่ากลัวลงไป คนไม่เกรงกลัวที่จะกระทำความผิด เพราะคิดว่าเข้าไปแล้วอย่างไรก็มีข้าวให้กินครบ 3 มื้อ มีการฝึกอาชีพ และมีกิจกรรมอะไรต่างๆ มากมายให้ทำ
เรื่องนี้ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ อธิบายว่า สถานะของเรือนจำเป็นพื้นที่ของการลงโทษ มีผลทำให้เรือนจำได้รับการมองจากคนในสังคมว่าเป็นสถานที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว และมองผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำตามกฎหมาย หรือตามคำพิพากษาของศาลไปในทางลบ เช่น เป็นผู้ที่เป็นอันตรายต่อสังคม ไม่น่าไว้วางใจ ไม่น่าคบหาสมาคมด้วย และไม่ควรได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต จึงทำให้คนทั่วไปเกิดมายาคติว่า นักโทษไม่สมควรได้รับการดูแลใดๆ เพราะถือเป็นบทลงโทษที่เขาควรได้รับอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการควบคุมนักโทษในเรือนจำก็เป็นการควบคุมแบบแนวดิ่ง ผู้คุมมีอำนาจเต็มที่ 100% นักโทษต้องทำตามคำสั่งทุกอย่าง จะถูกสั่งลงโทษเมื่อไรก็ได้ และไม่สามารถแสดงความคิดเห็น ถูกสอดส่องพฤติกรรมตลอดเวลา ไม่มีบรรยากาศของความไว้วางใจ และไม่เป็นมิตร การกระทำหลายๆ อย่างในเรือนจำจึงกลายเป็นพฤติกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังลงไป และยังถูกกันออกจากความเป็นพลเมือง เพราะไม่ได้รับการดูแลในเรื่องของสุขภาพขั้นพื้นฐานตามที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับ
รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าวว่า แม้จะเป็นผู้ต้องขัง แต่ก็สมควรได้รับการดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ เช่น การดูแลด้านสาธารณสุขมูลฐาน สุขภาพ เป็นต้น เพราะการลงโทษด้วยการเข้าคุกคือ การทำให้สูญสิ้นอิสรภาพ ไม่สามารถทำสิ่งใดๆ ได้แบบเมื่อก่อน ไม่สามารถได้อยู่กับครอบครัวหรือบุคคลผู้เป็นที่รักได้ ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานใจ ถือเป็นการลงโทษพวกเขาแล้ว แม้จะมีงานให้ทำในแต่ละวันแต่ก็เป็นการใช้เวลาให้ผ่านไปแต่ละวันอย่างแห้งแล้งและหดหู่ จึงไม่จำเป็นต้องลงโทษเพิ่มอีกด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์ไปจากพวกเขา
“แม้การบังคับให้นักโทษต้องทำตามคำสั่งทุกอย่าง จะเป็นการฝึกวินัย แต่การกดดันให้คนอยู่ในระเบียบเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยคืนผู้ต้องขังให้กลายเป็นคนดีสู่สังคมได้อย่างแท้จริง เพราะการที่กดดันให้อยู่แต่ในระเบียบเพียงอย่างเดียว แม้จะยอมปฏิบัติตามกฎ แต่ในใจจะรู้สึกต่อต้าน เมื่อพ้นโทษออกมาก็รู้สึกมีอิสระที่จะอยากทำอะไรก็ได้ บางคนจึงกลับไปติดยาเสพติดอีก เป็นต้น แต่การทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกผ่อนคลาย เกิดความรู้สึกที่ดี ได้รับการดูแลที่ดีทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ และเคารพในฐานะที่เป็นมนุษย์ ก็จะช่วยให้พวกเขากลับเป็นคนดีได้มากกว่าเดิม เพราะการจะยับยั้งชั่งใจจากการทำอะไรเลวๆ สักอย่าง ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นเพราะความรู้สึกที่ดี การทำดีต่างๆ จะทำให้ฉุกคิดได้ และไม่อยากที่จะกระทำความผิดอีก” รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าว
รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าวอีกว่า การดูแลนักโทษจึงต้องใช้ทั้งระเบียบวินัย แต่ไม่ใช่การกดดันไปเสียทั้งหมด แต่ต้องอาศัยความห่วงใยเข้ามาช่วยดูแลด้วย ดังนั้น ทิศทางใหม่ของการพัฒนาเรือนจำ จึงควรพัฒนาจาก “พื้นที่แห่งการลงโทษ” มาสู่การเป็น “ชุมชนแห่งความห่วงใย” คือ สร้างเสริมเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะต่อผู้ต้องขัง จึงมีการดำเนินโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย เพื่อแสดงให้เห็นว่า สามารถสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยให้เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่แดนหญิง เรือนจำกลางราชบุรี และพื้นที่แดนหญิง เรือนจำกลางอุดรธานี โดยบูรณาการแนวคิดของชุมชนแห่งความห่วงใยเข้าไปในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดบริการทันตสุขภาพเชิงรุก การสร้างสุขภาพแบบองค์รวมผ่านการฝึกโยคะ การสร้างพลังชีวิตผ่านการทำงานที่มีคุณค่า การสร้างความสุขผ่านการปลูกผักและต้นไม้ และการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเรือนจำ ผ่านการนำเสนอความสามารถและผลงานของผู้ต้องขัง
“การช่วยให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ลงบ้าง ไม่ได้เป็นการทำให้เรือนจำเกิดปัญหา แต่จากการดำเนินการพบว่า ทำให้ผู้ต้องขังอยู่อย่างถูกกฎระเบียบมากขึ้น เพราะเขามีความผ่อนคลายทางจิตใจ ที่สำคัญ ไม่ได้เป็นการทำให้คนทั่วไปไม่เกรงกลัว “คุก” เพราะผู้ต้องขังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะถึงอย่างไรคุกก็เป็นการพรากอิสรภาพไปจากชีวิต ต่อให้เรือนจำมีคุณภาพดี ดูแลดีแค่ไหน ก็คงไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ เหมือนอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ต่อให้คุกหรูหราสะดวกสบายเพียงใดคนก็ไม่อยากเข้า หรืออย่างนอร์เวย์ที่คุกมีสระว่ายน้ำ ให้ดีอย่างไรเสียคนก็ไม่อยากเข้าไปอยู่แล้ว” รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าว
สำหรับการฟื้นฟูจิตใจ “ผู้ต้องขัง” ที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่งคือ “การฝึกโยคะ” โดย ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย กล่าวว่า เป็นการเยียวยาผู้ต้องขังหญิงในแบบองค์รวม เพราะโยคะช่วยทั้งเรื่องของสุขภาพที่เป็นเรื่องของร่างกาย ช่วยมีความเยือกเย็นที่เป็นเรื่องของจิตใจ และช่วยให้มีความสงบซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เพราะโยคะฝึกให้เรามีความอดทน ใจเย็นและมีพลัง มีความรู้สึกผ่อนคลายเมื่อต้องเผชิญกับความกดดันนานัปการ มีความรู้สึกดีต่อตนเองและเข้มแข็งเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎระเบียบและสิ่งแวดล้อมในเรือนจำได้เป็นอย่างดี ซึ่งการฝึกโยคะเริ่มดำเนินงานที่เรือนจำกลางราชบุรี และขยายการดำเนินงานไปยังเรือนจำจังหวัดต่างๆ ก่อนที่จะพัฒนาให้เรือนจำกลางราชบุรีเป็นศูนย์การฝึกครูโยคะ เพราะการฝึกโยคะในเรือนจำจำเป็นต้องมีครูฝึกโยคะ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์ในการส่งผู้ต้องขังที่เรียนโยคะจากเรือนจำอื่นๆ มาฝึกการเป็นครูสอนโยคะที่เรือนจำกลางราชบุรี
“นอกจากนี้ การนำผู้ต้องขังหญิงที่ฝึกโยคะออกสู่เวทีการแข่งขันนานาชาติ ในการชิงแชมป์โยคะแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 19-21 มิ.ย. 2558 ที่มีประเทศต่างๆ เข้าแข่งขัน 14 ประเทศ ซึ่งไทยเป้นประเทศเดียวที่ส่งทีมโยคะจากเรือนจำแข่งขัน ประกอบด้วยผู้ต้องขังหญิงจากเรือนจำกลางราชบุรีและอุดรธานีรวม 12 คน ปรากฏว่า ได้เหรียญเงิน 2 เหรียญ เหรียญทองแดง 4 เหรียญ และรางวัลชมเชย 12 รางวัล ได้คะแนนรวมอยู่อันดับ 3 ทำให้เป้นครั้งแรกที่ได้ร้องเพลงชาติในเวทีโยคะนานาชาติ นับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่เรือนจำและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ต้องขัง ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ประทานลายพระหัตถ์แสดงความชื่นชมและประทานพระรูปพร้อมลายพระหัตถ์แก่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนด้วย รวมไปถึงการจัดทำวิดีทัศน์การแสดงโยคะผู้ต้องขังหญิงจากเรือนจำต่างๆ เป็นตอนๆ ยาว 10-15 นาที ลงในยูทูบเป็นระยะๆ ให้ผู้เข้าชมได้แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจผู้แสดงด้วย” ผศ.ธีรวัลย์ กล่าว
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าวว่า สสส.ให้การสนับสนุนโครงการปฏิรูปเรือนจำ สร้างชุมชนแห่งความห่วงใยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย จำนวน 45,141 คน และมีสถิติสูงที่สุดในโลกถึง 2 ด้าน คือ มีอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด และสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อ แสนประชากร ไทยสูงที่สุดในโลก เพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังหญิง มีสุขภาวะทางกายและใจดีขึ้น จากการมีโอกาสได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม ได้รับการฝึกอาชีพตามความสนใจ มีพลังชีวิตผ่านการทำงานอิสระและสร้างสรรค์ มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับเพื่อนและเจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่เรือนจำ เปลี่ยนจากความสัมพันธ์แนวดิ่งเป็นแนวราบ มีความเข้าใจและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น
ด้าน นิออน โกศะโยดม อายุ 24 ปี อดีตผู้ต้องขังที่ฝึกโยคะและได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว เล่าว่า ตนถูกตัดสินโทษจำคุกข้อหาร่วมพยายามฆ่า ทั้งที่ไม่ได้กระทำอะไรเลย โดยก่อนหน้านั้นตนทำงานรับจ้างกลางคืนที่ จ.ขอนแก่น โดยคืนเกิดเหตุแฟนมารับพร้อมเพื่อน ซึ่งตนไม่ทราบว่าคืนนั้นเขามีเรื่องอะไรกัน แต่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทแล้วตนอยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งวันนั้นก็ไม่มีใครเสียชีวิต แต่อีกฝ่ายซัดทอดมาว่าเราเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ซึ่งเราไม่ได้ทำก็พยายามสู้คดี แต่ก็ไม่สามารถสู้ โดยบอกว่าคำให้การของตนอ่อนเกินไป และเชื่อว่าเป็นเพราะเรื่องชู้สาว โดยหาว่าเราเป็นคนยุยงส่งเสริมให้เกิดเหตุขึ้น จึงโดนโทษจำคุก 28 ปี ซึ่งหากอุทธรณ์แล้วแพ้โทษจะเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจอุทธรณ์ขอลดโทษเหลือจำคุกประมาณ 12 ปี ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเหมือนใช้ชีวิตให้เวลาผ่านพ้นไปวันๆ เพราะถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ต้องดิ้นรนทำตามกฎระเบียบ ไม่มีอิสระที่จะทำสิ่งใด คือทุกอย่างมันแย่ไปหมด แต่พอมีโครงการเข้ามาซึ่งมีหลายอย่าง ก็ตัดสินใจเลือกฝึกโยคะ เพราะว่าน่าสนใจ ซึ่งเริ่มฝึกมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งตอนฝึกอยู่ที่เรือนจำอุดรธานีก็ฝึกแบบยังไม่ได้อะไรเท่าไร จนกระทั่งถูกส่งตัวมาอบรมที่เรือนจำกลางราชบุรีเพื่อฝึกเป็นครูสอนโยคะ
“การฝึกโยคะขั้นสูงต้องใช้ความอดทนอย่างมาก แรกๆ นี่แทบนอนไม่ได้เลย แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านมาได้ โยคะเหมือนเป็นธรรมะที่ขัดเกลาจิตใจ เพราะต้องอาศัยสมาธิและการฝึกลมหายใจ ซึ่งมองว่าการฝึกโยคะทำให้เราเห็นคุณค่าชีวิตของตนเองมากขึ้น เรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีต และต้องทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้น ช่วยผ่อนคลายจากความเครียด ฟื้นฟูจิตใจ เมื่อได้ไปแข่งขันและได้รับรางวัลก็ได้รับความชื่นชม ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจไม่คิดว่าผู้ต้องขังอย่างเราจะมาได้ไกลขนาดนี้ และเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ก็ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งแรกๆ กังวลว่า หากออกจากคุกมาคนอื่นจะมองเราอย่างไร มองเราเป็นตัวประหลาดหรือไม่ แต่วันที่ออกมาจากคุกทุกคนก็ต้อนรับเราอย่างดี คนที่ไม่รู้จักก็มาแสดงความยินดี ไม่ได้รังเกียจ” นิออน กล่าว
การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของสุขภาพและจิตใจ ไม่เพียงแต่เป็นการดูแลในฐานะของความเป็นพลเมือง แต่ยังเอื้อต่อการฟื้นฟูจิตใจในกระบวนการสำนึกตัวและความผิด เพื่อปรับปรุงเป็นคนใหม่กลับคืนเป็นคนดีต่อสังคมได้ง่ายกว่าการกดดันบังคับข่มขู่ เพราะแม้จะกระทำผิดมาก่อน แต่ก็สมควรได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่งหรือไม่